×

ใครไม่ได้เรื่องก็ออกไป! บริษัทใหญ่เตรียมนำการประเมินเข้มงวดกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อรอรับวิกฤตในอนาคต

22.09.2022
  • LOADING...
พนักงาน

เป็นเวลานานเกือบ 3 ปีแล้วนับจากจุดเริ่มต้นของโรคระบาดโควิดเมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างมากมายในทุกมิติ วันนี้เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลายจนแทบจะใกล้เคียงกับชีวิต Pre-COVID และนั่นหมายถึงการทำงานในบริษัทด้วยเช่นกัน

 

โดยนอกจากที่บริษัทหลายแห่งจะเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศตามปกติแล้ว อีกหนึ่งสัญญาณที่น่าจับตามองคือการที่บริษัทใหญ่หลายแห่งเตรียมที่จะนำการประเมินผลงานแบบเข้มงวดกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ผ่อนปรนด้วยความเห็นใจต่อพนักงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เป็นการตบบ่าบอกกันแบบสุภาพว่า “ใครผลงานไม่ดี อย่าหาว่าไม่เตือน”

 

ตามรายงานจาก The Wall Street Journal ระบุว่า ผู้บริหารของบริษัทใหญ่หลายแห่งได้ส่งสัญญาณไปถึงระดับผู้จัดการอย่างชัดเจนว่า “หาตัวคนที่ทำผลงานได้ต่ำกว่าเกณฑ์แล้วเชิญออกจากบริษัทไปได้เลย” ซึ่งแม้มันจะฟังดูโหดร้าย แต่สำหรับบริษัทแล้วการคัดกรองพนักงานให้เหลือเฉพาะคนที่ทำผลงานได้ดี ไม่เป็นตัวถ่วงที่คอยเอาเปรียบบริษัทและเพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในช่วงหลังจากนี้จะยิ่งวิกฤตหนักขึ้นไปอีกจากเดิมที่ยังไม่ฟื้นตัวกันเต็มที่

 

วิธีการประเมินผลงานแบบเข้มงวดที่ละเว้นมาหลายปีจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในบริษัทใหญ่หลายแห่ง เช่น Meta Platform, Maher Saba ไปจนถึง Goldman Sachs Group ที่เตรียมเลย์ออฟพนักงานหลายร้อยคนในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานประจำปีของธนาคาร 

 

ด้าน ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอยักษ์ใหญ่อย่าง Google ได้เคยกล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า เขาต้องการให้บริษัท “มีผลงานที่ดีขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งหากคิดถึงการตัดสินใจที่มีการควบรวมหลายแผนกเข้าด้วยกัน ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า Google จะ ‘รีเซ็ต’ บริษัทครั้งใหญ่ และในบันทึกถึงพนักงานฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้บอกชัดเจนว่า Google จะชะลอการจ้างงานไปตลอดปีนี้

 

แน่นอนว่าการกลับมาของการประเมินแบบเข้มงวดย่อมไม่ถูกใจชาวออฟฟิศที่มีจำนวนไม่น้อยรู้สึกทบทวนการทำงานครั้งใหญ่ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้วิถีชีวิตการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แม้แต่ในกลุ่มพนักงานที่สร้างผลงานได้ดีที่สุดก็กังวลเกี่ยวกับวิธีการประเมิน โดยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถจะทำผลงานที่ดีได้โดยไม่จำเป็นจะต้องเอาตัวเลขมาชี้วัด

 

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้บริหารโดยเฉพาะในบริษัทยักษ์ใหญ่ สิ่งที่มีผลอย่างมากคือต้นทุนของแรงงาน ซึ่งตามข้อมูลจาก Federal Data แสดงให้เห็นว่ากลุ่มงานที่ไม่มีความเสี่ยงนั้น ผลงานต่อจำนวนชั่วโมงการทำงาน ซึ่งติดตามโดยสำนักสถิติกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ลดลง 4.1 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่ายๆ คือ จ่ายเงินมากขึ้นแต่ได้ผลงานกลับมาน้อยลง

 

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นความกดดันสำหรับผู้บริหารที่จะต้องพยายามทำให้ผลงานของบริษัทกลับมาเป็นที่น่าพอใจ เพื่อจะตอบบรรดาผู้ถือหุ้นได้ว่าพนักงานที่จ้างมานั้นตอบแทนการทำงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งวิธีการประเมินผลงานก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ดีที่สุด 

 

โดยบริษัทที่จัดทำซอฟต์แวร์ประเมินผลงานอย่าง BambooHR เปิดเผยว่า มีบริษัทที่ขอซื้อระบบเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีกลาย และจำนวนพนักงานที่ถูกประเมินผ่านระบบนั้นเพิ่มจาก 61,000 คน เมื่อปี 2021 มาเป็นเกือบ 530,000 คนในปัจจุบัน ซึ่งระบบแบบนี้ช่วยให้การประเมินง่ายขึ้นมาก เพราะทุกอย่างถูกทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าผลงานของพนักงานเทียบกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเป็นอย่างไร

 

งานนี้คนที่รับบทหนักที่สุดคือบรรดาผู้จัดการ ที่เป็นคนกลางระหว่างผู้บริหารกับพนักงานผู้ปฏิบัติการจริง ซึ่งตามรายงานจาก WSJ ระบุว่า ผู้จัดการแผนกจะเป็นคนที่พยายามสร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้พนักงานที่ชีวิตประจำวันก็หนักอยู่แล้วและอยู่ในภาวะใกล้เบิร์นเอาต์ ตกอยู่ในสภาพที่แย่ไปกว่านี้ ด้วยการประนีประนอมและความเห็นอกเห็นใจกัน และไม่ให้ผู้บริหารที่คาดหวังผลงานที่ดีขึ้นจากพนักงานต้องผิดหวังเพราะผลงานของพนักงาน คือความเป็นอยู่ที่ดีของบริษัทและของทุกคน

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า การนำการประเมินผลงานมาใช้เป็นสิ่งที่อาจจะมีประโยชน์ แต่ต้องระวังโทษด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากนำผลงานมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจเลย์ออฟ ที่อาจทำให้พนักงานดีๆ บางคนโดนลูกหลงไปด้วย ดังนั้น การประเมินผลงานจำเป็นที่จะต้องทำอย่างละเอียด รอบคอบ และเข้าใจธรรมชาติการทำงานในยุคหลังโรคระบาด

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ และคาดว่าจะเป็นทุกที่ในโลกคือ การแข่งขันเพื่อความอยู่รอดกำลังจะเริ่มต้นขึ้น การคัดกรองตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นแม้ในที่ทำงาน และหากต้องการจะเป็นผู้ที่อยู่รอดในออฟฟิศ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตั้งใจทำงานเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปหาอย่างอื่นทำ

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising