วันนี้ (11 ก.ย.) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
โดยระบุว่าที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญโดยเห็นชอบนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ และลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร ฯลฯ
พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศ และมีระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้ารองรับไฟฟ้าที่จะผลิตจากชุมชน โดยแนวทางคือให้ภาคไฟฟ้ารัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันจัดตั้ง หากพื้นที่ไม่มีศักยภาพจากพืชพลังงานจะส่งเสริมการผลิตจากแสงอาทิตย์ด้วยขนาดกำลังผลิตที่สอดคล้องความต้องการใช้ในพื้นที่
ทั้งนี้ราคารับซื้อต้องกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด และมีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน หรือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร โดยอาจมีงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
ทาง กพช. มอบให้ กบง. พิจารณารายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบาย เช่น เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้า พื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านระบบส่งและระบบจำหน่าย และแก้ไขหลักเกณฑ์ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 และนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล เพื่อให้การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ของประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จึงเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยเริ่มขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ให้ต่ำกว่า B7 ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน B7 ที่ 3 บาทต่อลิตร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ยังเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมัน B7 และ B20 เป็นทางเลือก โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้บริโภค และให้กระทรวงพลังงานบริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ติดตามปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล และประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรดภายในวันที่ 1 มกราคม 2563
พร้อมคาดว่าเดือนธันวาคม 2562 จะมีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (B100) ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน ช่วยดูดซับการใช้ CPO 167,360 ตันต่อเดือน ซึ่งปริมาณ CPO คงเหลือในปัจจุบันและผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้จะรองรับการผลิต B100 ได้เพียงพอ โดยมีผู้ผลิต B100 สำหรับใช้ผสมเพื่อผลิตเป็น B10 ได้ 9 ราย กำลังการผลิตรวมประมาณ 6.9 ล้านลิตรต่อวัน
ปัจจุบันมีจำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลประมาณ 10 ล้านคัน เป็นรถยนต์ที่ค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้ B10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน หรือครึ่งหนึ่งของรถดีเซลทั้งหมด โดยผู้ค้าน้ำมันที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน B10 มีความพร้อมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ
สุดท้ายนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็น ‘สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยให้เร่งดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนฯ สามารถดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ และเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: