×

ชุมชนและวัฒนธรรมต้องมาก่อนในงานบูรณะเมืองเก่า

โดย Heritage Matters
10.05.2024
  • LOADING...
ชุมชนและวัฒนธรรม

เมื่อกล่าวถึงงานฟื้นฟูบูรณะย่านเมืองเก่าในประเทศไทย มีคำถามสำคัญคือ ชุมชนดั้งเดิมจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหรือไม่? ในย่านที่มีความสำคัญหลายต่อหลายแห่ง เจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่มีความเป็นสถาบันมักใช้วิธีขับไล่ผู้เช่าเก่าออกไป เพื่อหาทางพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบอื่นขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการคุกคามสถาปัตยกรรมโบราณ และกัดกร่อนทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีชีวิตชีวาให้แตกสลายไป

 

แต่แล้วความหวังก็ปรากฏขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อกลุ่มผู้เช่าอาศัยในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยอาคารห้องแถวโบราณ ตั้งไม่ห่างจากใจกลางเยาวราช ได้ร่วมกันเจรจากับเจ้าของที่ดิน เพื่อขออนุญาตดำเนินการซ่อมแซมอาคารในชุมชนเอง โดยผู้เช่ายังคงได้สิทธิอยู่อาศัยต่อหลังจากการปรับปรุงซ่อมแซม

 

บรรยากาศภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เมื่อช่วงปลายปี 2566

 

ชุมชนและวัฒนธรรม

บรรยากาศภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เมื่อช่วงปลายปี 2566

 

‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ มีเรื่องราวย้อนกลับไปในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอาคารห้องแถวรูปทรงคลาสสิกซึ่งเป็นแบบฉบับของอาคารพาณิชย์รุ่นแรกๆ แห่งหนึ่งของประเทศไทยประมาณ 220 คูหา ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในฐานะชุมชนที่พักอาศัยและทำการค้าอันคึกคัก โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งมากถึงราว 100 ครอบครัว ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เช่น อินเดีย จีน และไทย แต่สามารถก่อร่างสร้างความผูกพันทางสังคมได้อย่างแนบแน่น

 

ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้ร่วมกันเจรจายื่นข้อเสนอกับเจ้าของที่ดินคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ยินยอมยกเลิกข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้พัฒนาอสังหารายใหญ่ ซึ่งมีแผนจะเปลี่ยนพื้นที่เก่าแก่แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์การค้าสมัยใหม่เอาไว้แล้ว และเปลี่ยนมาทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ซึ่งรวมตัวกันนำเสนอแผนปรับปรุงอาคารพักอาศัยและจัดการพื้นที่ของตนภายใต้รูปแบบบริษัทจัดการทรัพย์สินชื่อ บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด

 

เป้าหมายคือเพื่อดำรงรักษาความมีชีวิตชีวาของชุมชนและมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ไม่สามารถทดแทนได้ กล่าวได้ว่านี่นับเป็นครั้งแรกที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ละเว้นแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ทั้งในการปรับปรุงที่ดินหรือให้เช่าพื้นที่แก่นักพัฒนาอสังหา ถือเป็นจุดเริ่มต้นวิถีใหม่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบใหม่เพื่อการอนุรักษ์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการยอมรับถึงความสำคัญของชุมชนและมรดกทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญยิ่ง

 

กรณีชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้จุดประกายแห่งความหวังให้กับชุมชนอีกหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากในประเทศไทยมีชุมชนผู้เช่าในลักษณะดังกล่าวอยู่จำนวนมาก โดยชุมชนเหล่านี้มักไม่มีโอกาสต่อรองกับเจ้าของที่ซึ่งเป็นสถาบัน เช่น สำนักงานทรัพย์สินฯ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ วัด และมูลนิธิ ดังนั้นหากการดำเนินการเชิงรุกโดยชุมชนในรูปแบบของ ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ ประสบความสำเร็จ รูปแบบการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เพียงเป็นมาตรฐานใหม่ที่อาจจะทำให้การขับไล่ผู้เช่ากลายเป็นวิถีที่ตกยุคไปในที่สุด แต่ยังเป็นคุณต่อภูมิสถาปัตย์ของเมืองและโครงสร้างทางสังคมทั่วทั้งประเทศ

 

บรรยากาศภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เมื่อช่วงปลายปี 2566

 

ชุมชนและวัฒนธรรม

ห้องหัวมุมภายในชุมชนถูกปรับปรุงให้เป็นร้านขายอาหารเปิดบริการตั้งแต่เช้า

 

ห้องแถวเล็กๆ ที่ถูกปรับให้ใช้งานได้หลากหลาย ชั้นล่างเป็นร้านเสริมสวย-ทำเล็บ ชั้นบนเป็นบาร์ขายอาหารและเครื่องดื่ม

 

ชุมชนแห่งนี้เปิดตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังการปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จสิ้นลงระหว่างช่วงท้ายของการแพร่ระบาดโควิด ในทางกายภาพตึกแถวที่ครั้งหนึ่งเคยทรุดโทรมกลับดูใหม่กริบสวยงาม วัสดุสมัยใหม่ได้รับการบูรณาการให้สอดคล้องเข้ากับตัวอาคารเดิม โดยยังคงอนุรักษ์ลักษณะทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้

 

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ขาดหายไปคือธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชุมชน ส่งผลให้กลุ่มอาคารปราศจากความเคลื่อนไหวทางการค้า ซึ่งเปรียบเสมือนร่างอันไร้ชีวิตชีวา สถานการณ์ที่เกิดจากแผนธุรกิจของโครงการที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จนัก ในปัจจุบันมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของห้องแถวในชุมชนที่เปิดทำการค้า ส่วนใหญ่เป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร และบาร์ ผู้ค้ารุ่นเก่าเพียง 2 รายเท่านั้นที่ยังคงปักหลักอยู่กับห้องอาคารริมถนนเยาวราชด้านหน้าโครงการ รายหนึ่งขายตาชั่ง ส่วนอีกรายหนึ่งขายผ้า

 

เกิดอะไรขึ้นกับแผนการมุ่งหมายจะอนุรักษ์จิตวิญญาณของชุมชน? หรือแผนธุรกิจต้องสะดุดเพราะเกิดขึ้นผิดจังหวะ? เป็นที่ชัดเจนว่าโครงการนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงักลง แต่ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบใหม่คือการค้าขายบนโลกออนไลน์ไม่ต้องการหน้าร้านเฟื่องฟูอีกต่อไป

 

บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ยอมรับว่าตลอดมาได้พยายามดิ้นรนแสวงหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ซึ่งควรจะเป็นรูปแบบที่สร้างผลกำไรได้มากพอที่จะครอบคลุมทั้งค่าเช่าและเม็ดเงินจำนวนมากที่แต่ละครอบครัวได้ลงทุนไปกับการซ่อมแซม บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เป็น ‘พื้นที่สร้างสรรค์ร่วมกัน’ และยินดีรับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่เคยนำแนวคิดดังกล่าวหารือกับผู้เช่าทั้งหมด ซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะกังวลขึ้นมาได้ว่าแผนดังกล่าวจะใช้เวลานานเกินไปกว่าจะสร้างผลกำไร ผู้เช่าบางรายตั้งคำถามว่า ทำไมพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีชีวิตชีวาอยู่แล้วจึงจำต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนให้กลายเป็นย่านการค้าที่กั้นเขตรั้วรอบขอบชิด โดยมีการจัดสรรพื้นที่ถนนส่วนกลางให้คนเดินเท้าใช้หรือสำหรับกิจกรรมพิเศษเท่านั้น ทำให้ที่จอดรถน้อยลงและยานพาหนะเข้าถึงได้อย่างจำกัด ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพการค้าขายลดลงไป

 

ชุมชนและวัฒนธรรม

ห้องแถวบางส่วนของโครงการสามารถเข้า-ออกได้จากทางด้านหลังร้าน ซึ่งติดกับถนนด้านนอกโครงการ ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากการค้าส่งอยู่บ้าง

 

บริษัทชุมชนแห่งนี้ได้แสดงศักยภาพของธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมไปบ้างแล้ว โดยมีการใช้ห้อง 1 คูหาจัดแสดงนิทรรศการในช่วง ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ (Bangkok Design Week 2023) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และมีการเปิดร้านงานหัตถกรรมขึ้นอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากย่านเยาวราช ซึ่งเป็นจุดสนใจหลักใหญ่ในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ พื้นที่นี้ย่อมมีศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจค้าปลีกและการบริการที่น่าจะประสบความสำเร็จ

 

แม้ว่าแนวความคิดของบริษัทในความพยายามจะพัฒนาชุมชนให้เป็น ‘ย่านสร้างสรรค์’ อาจจะถือว่าเป็นความหวังที่ดูสดใส อย่างไรก็ตาม หากไม่จัดให้ผู้เช่าทั้งหมดมีส่วนร่วมในการอภิปรายและพิจารณาข้อมูลในด้านของผู้เช่า แนวทางนี้อาจจะถูกมองว่าเป็น Top Down มากกว่าการทำงานร่วมกัน สิ่งนี้อาจจะก่อให้เกิดความตึงเครียดยิ่งไปกว่าเดิม จากที่บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เคยยื่นฟ้องสมาชิกของชุมชนดั้งเดิม 14 รายต่อศาล โดยมีข้อกล่าวหาว่าคนเหล่านั้นไม่ให้ความร่วมมือ

 

ห้องแถวบางส่วนของโครงการสามารถเข้า-ออกได้จากทางด้านหลังร้าน ซึ่งติดกับถนนด้านนอกโครงการ ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากการค้าส่งอยู่บ้าง

 

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่เป็นตัวอาคารเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความต้องการและความเห็นของผู้อยู่อาศัย เพราะทุกคนต่างก็เป็นพ่อค้ามาก่อน จึงอาจจะมีคำแนะนำทางธุรกิจที่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงยังไม่สมควรได้รับยกย่องให้เป็นมาตรฐานความสำเร็จในงานอนุรักษ์ จนกว่ามันจะเป็นไปตามความต้องการของชุมชน

 

ดังนั้นเราอาจจะต้องลองหาแนวทางการปรับปรุงในรูปแบบใหม่เพื่อปฏิบัติได้จริง หากการปรับปรุงซ่อมแซมใดๆ สามารถจัดทำเป็นเฟส เพื่อให้ผู้เช่าในเฟสที่จะซ่อมแซมย้ายออก โดยให้กลุ่มที่เหลือยังคงอยู่อาศัยและทำการค้าในชุมชนต่อไปจนกว่าจะถึงเฟสการซ่อมแซมของตนเอง แทนการใช้คำสั่งของบริษัทให้ผู้เช่าย้ายออกพร้อมกันทั้งหมด ทั้งนี้วิธีดังกล่าวอาจจะใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่าจะแล้วเสร็จ แต่จะช่วยให้ผู้เช่าดั้งเดิมสามารถดำรงสภาพการเช่าสถานที่ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษารากเหง้าดั้งเดิมของชุมชนไว้ในสภาพที่ใกล้เคียงของเดิมที่สุด

 

เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกทุกคนควรได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตลอดจนถกเถียงแนวทางและข้อเสนอทั้งหมดร่วมกัน แนวทางที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมจะไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ยังปลูกฝังความรับผิดชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเติบโตและความยั่งยืนทางการเงิน สามารถช่วยทำให้โครงการและชุมชนเข้มแข็งขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร และทั่วทั้งประเทศ

 

ชุมชนและวัฒนธรรม

ห้องแถวบางส่วนของโครงการสามารถเข้า-ออกได้จากทางด้านหลังร้าน ซึ่งติดกับถนนด้านนอกโครงการ ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากการค้าส่งอยู่บ้าง

 

ห้องแถวบางส่วนของโครงการสามารถเข้า-ออกได้จากทางด้านหลังร้าน ซึ่งติดกับถนนด้านนอกโครงการ ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากการค้าส่งอยู่บ้าง

 

ในตอนนี้เราอาจจะด่วนตัดสินใจเรื่องการฟื้นฟูชุมชนเลื่อนฤทธิ์มากเกินไป เพราะทั้งบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด และสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่างก็สมควรได้รับคำยกย่องที่ได้ร่วมกันบุกเบิกเส้นทางใหม่ให้แก่งานการบูรณานุรักษ์* แต่ชาวชุมชนอื่นอีกหลายแห่งพร้อมกับมรดกวัฒนธรรมของตนยังคงตกอยู่ในความไม่แน่นอน หากเรายังไม่มีนโยบายระดับชาติที่เข้มแข็งมากพอสำหรับปกป้องชุมชนลักษณะนี้ ซึ่งมันสุ่มเสี่ยงอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนพลเมืองอย่างยิ่ง

 

ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรปรับปรุงระบบการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ล้าสมัยเสียที และควรพิจารณาเพิ่มเติมแรงจูงใจให้แก่เจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะที่เป็นรูปแบบสถาบัน ทั้งนี้เพื่อทำให้ชุมชนเก่าแก่และธุรกิจดั้งเดิมทั้งหลายยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้

 

นักพัฒนาอสังหายังคงมีช่องทางโอกาสอีกมากมายนอกพื้นที่เขตประวัติศาสตร์ของชุมชนในย่านเมืองเก่าอยู่แล้ว พื้นที่ที่มีความเป็นชุมชนเช่นนี้ควรปล่อยให้ผู้พักอาศัยปรับปรุงอาณาบริเวณของตนเอง เพื่อให้ผู้คน วัฒนธรรม และมรดกของตนสามารถแสดงศักยภาพแบบที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของเราต่อไปในหลายต่อหลายทศวรรษข้างหน้า

 

**คำอธิบายภาพเปิด: บรรยากาศภายในชุมชนเลื่อนฤทธิ์เมื่อช่วงปลายปี 2566

 

บทความโดย สิรินยา วัฒนสุขชัย: นักเขียน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

 

บทความนี้ได้แปลและดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567

 

บรรณาธิการ: เพลินพจน์ อัตถากร

แปลเป็นภาษาไทย: สิรินยา วัฒนสุขชัย

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X