×

กรรมการบริหารพรรคไทยภักดีถูกร้องสอบเอาผิด ม.112 หลังยื่นหนังสือถึงกรมราชทัณฑ์คัดค้านทักษิณขออภัยโทษ

โดย THE STANDARD TEAM
21.11.2023
  • LOADING...

วานนี้ (20 พฤศจิกายน) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยภักดีถูกร้องเรียนผ่านกองบังคับการปราบปราม ให้ตรวจสอบว่ากระทำความผิดเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ หลังการไปยื่นหนังสือคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566

 

“พรรคไทยภักดีส่งคนไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แสดงความไม่เห็นด้วย กรณีกรมราชทัณฑ์จะดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษนักโทษชายเป็นกรณีพิเศษ

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคไทยภักดีเรียกร้องกรมราชทัณฑ์ก่อนที่กรมจะทำเรื่อง และก่อนจะมีพระบรมราชโองการ แต่แปลกที่ทนายส้มไปร้องกองปราบว่าเข้าข่ายผิด มาตรา 112 หรือไม่ และยิ่งแปลกมากที่กองปราบก็รับเรื่องเพื่อสอบปากคำ”

 

นพ.วรงค์ระบุว่า พรรคไทยภักดียืนยันถึงอุดมการณ์ในการปกป้องสถาบันเบื้องสูง ไม่มีความคิดที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเบื้องสูงเหมือนบางฝ่าย ที่สำคัญคือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคเรียกร้องแค่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็มีหนังสือตอบมาที่พรรคว่าดำเนินการตามกฎหมาย และปฏิบัติให้กับนักโทษทุกคน

 

“วันนี้สังคมไทยคงแปลกมาก ปล่อยให้ฝ่ายล้มล้างมาร้องฝ่ายปกป้องว่าล้มล้าง ปล่อยให้ฝ่ายโดนคดี 112 มาร้องฝ่าย #save112 ว่าผิดมาตรา 112 ที่ยิ่งแปลกมากๆ คือเจ้าหน้าที่รัฐก็รับลูกด้วย” นพ.วรงค์ระบุ

 

ย้อนที่มาไทยภักดีคัดค้านทักษิณยื่นขออภัยโทษ

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม หลังการเดินทางกลับของทักษิณเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม อนันต์ สาครเจริญ เหรัญญิกพรรคไทยภักดี ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอคัดค้านการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของทักษิณ เนื่องจากในขณะนั้นมีกระแสข่าวว่าทักษิณจะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแบบเฉพาะรายบุคคล พรรคไทยภักดีจึงขอคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

 

  1. ทักษิณต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ และยังมีพฤติกรรมหลบหนีคดีไปต่างประเทศ ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม 

 

  1. จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในประเทศ สร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน

 

  1. ในสมัยที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยึดนโยบายที่จะไม่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ต้องขังในคดีทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อที่จะธำรงรักษาหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง ซึ่งควรเป็นนโยบายที่หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะต้องสืบทอดเอาไว้

 

ก่อนที่วันที่ 1 กันยายน จะมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X