วันนี้ (1 เมษายน) นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้า การตรวจสอบบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่เกิดเหตุถล่ม ภายหลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทพบว่า ตั้งอยู่ภายในตึกแถวซึ่งมีอยู่ 4 บริษัท ในที่เดียวแต่ถูกปิดทั้งหมด ว่า ขณะนี้ได้ให้กรรมการชุดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และกรมสรรพากร ตรวจสอบภายใต้กฎหมายและอำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ โดยให้เวลาในการดำเนินการ 7 วัน
ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่าบริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับบริษัทอื่นๆ อีก 13 บริษัท ส่วนมีการรับก่อสร้างโครงการใดบ้างเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ขอให้ได้ข้อสรุปและรายละเอียดก่อน ซึ่งก็จะมีการตรวจสอบทั้งหมดว่าบริษัทเหล่านี้มีการรับงานในโครงการไหนบ้าง มีโครงการไหนบ้างแล้วเสร็จไปแล้ว และที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ส่วนที่มีการปิดบริษัทนั้น ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ นภินทรยืนยันว่า มีวิธีการอื่นที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งมีวิธีการทางกฎหมายที่สามารถไปตรวจสอบได้โดยไม่ต้องไปพบตัว ซึ่งจะสามารถสรุปได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นนอมินีหรือไม่
ส่วนคนไทยที่มีชื่อถือหุ้นในบริษัทนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นนอมินีหรือไม่ ต้องรอข้อเท็จจริง โดยในวันนี้จะมีการประชุมติดตามเรื่องดังกล่าว โดยยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เนื่องจากเกี่ยวพันกับรูปคดี ทั้งนี้หากพบว่ามีความผิดจะจะดำเนินการทุกข้อหาตามกฎหมายที่มีอยู่
ส่วนการสุ่มตรวจบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว และบริษัทที่เข้าข่ายมีคนไทยเป็นนอมินีนั้น นภินทรกล่าวว่า ก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ แต่บริษัทจีนในไทยมีจำนวนมากถึง 20,000 บริษัท ซึ่งตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับกรมที่ดินเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ถือครองว่ามีบริษัทใดบ้าง ยังไม่ทราบว่าผู้ถือครองเหล่านั้นจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทในภายหลังหรือไม่ โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะใช้อำนาจทุกอย่างของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบ ไม่ให้นอมินีสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย
ทวีชี้ บริษัทรับเหมาจีนส่อเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษฮั้วประมูล
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหว ว่า การเยียวยาจะเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น ซึ่งหากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษประมาททำให้เสียชีวิต ถือเป็นฐานความผิดทางอาญา เข้าข่ายข้อกฎหมาย
แต่ในการช่วยเหลือเยียวยาของเหตุภัยพิบัติ มีกระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการพิจารณา ซึ่งรัฐบาลมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เหมือนโศกนาฏกรรมก็ต้องดูแลช่วยเหลือเต็มที่ ดังนั้นต้องเยียวยาทางด้านจิตใจและที่เป็นตัวเงินซึ่งเหตุภัยพิบัติสามารถทำได้เลยไม่ต้องรอให้คดีสิ้นสุด นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจะมีมติคณะรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม
สำหรับของกระทรวงยุติธรรม มีอยู่ 3 ประเด็นที่จะเข้าข่ายความผิด
- การประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าวที่ใช้นอมินี เท่าที่ดูจากงบการเงินที่เผยแพร่กันอยู่ บริษัทดังกล่าว ขาดทุนมาตลอด และไม่มีการเสียภาษี อีกทั้งมีการนำเงินของบริษัทไปให้กรรมการกู้จำนวน 2,000 ล้านบาท แม้อำนาจที่แท้จริงจะให้ต่างชาติ 49% ไทย 51% แต่หากมองในลักษณะมีอำนาจครอบงำจะเห็นในเรื่องของการบริหาร ดังนั้นจึงต้องเข้าไปตรวจสอบว่า เป็นความผิดใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว และเข้าข่ายที่จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปดำเนินการหรือไม่
- หากสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม DSI มีอำนาจในการสอบสวน
- การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เรียกว่าฮั้วประมูล หากเกินกว่า 30 ล้านบาทขึ้นไป กรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ เพราะเบื้องต้นเห็นว่าต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% เท่านั้น ปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขันควรต่ำกว่า 10-15%
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยเหมือนจีดีพีจะโต แต่คนไทยไม่ได้ประโยชน์จึงต้องไปดูว่าเราบังคับใช้กฎหมายธุรกิจของคนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ เงินที่จะไปสู่คนต่างด้าวเพียงอย่างเดียว ต้องกลับมาหาคนไทย 51% ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเคสนี้ แต่จะดูธุรกิจทั้งหมดที่คนต่างด้าวดำเนินการ โดยให้สำนักความมั่นคงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดูเรื่องนอมินีทั้งหมด