-1-
เมืองนี้มีรถมากจริง เพิ่งเห็นรถติดเป็นครั้งแรกในชีวิต แกคิดขณะยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์… ไม่นึกว่าจะมีรถมากขนาดนี้ ติดกันตั้งแต่เช้าตรู่
แกอายุ 63 มาเมืองหลวงเป็นครั้งแรกในชีวิต ตื่นแต่เช้าตรู่ และแต่งตัวรอ ลูกสัพยอกว่า “พ่อตื่นเต้นหรือ?”
ครั้งแรกของทุกอย่างก็ต้องตื่นเต้นไม่ใช่หรือ?
ตื่นเต้นตั้งแต่เตรียมกระเป๋าเดินทาง ยืมชุดสูท ซื้อรองเท้าคู่ใหม่ จัดของอยู่หลายวันก่อนเดินทาง
ทิ้งงานบ้าน ปิดร้าน นั่งรถไฟชั้นสามมา 20 ชั่วโมง
ถึงกรุงเทพฯ แล้วลูกมารับ พาพ่อไปที่ห้องพัก เพื่อนร่วมห้องของลูกกลับไปต่างจังหวัด จึงมีเตียงให้แกนอน
-2-
ลูกชายพาพ่อขึ้นรถเมล์ คนแน่นรถ แกสังเกตว่าหลายคนมองลูกด้วยความแปลกใจ แต่บางคนก็ยิ้ม ไม่ทุกวันที่พวกเขาเห็นคนสวมชุดครุยขึ้นรถเมล์ แกหวังเพียงว่าชุดครุยจะไม่ยับเพราะเบียดเสียดกัน
ระยะทางจากที่พักไปมหาวิทยาลัยห่างกันแค่สองป้ายรถเมล์ แกบอกว่า “แค่นี้เดินไปก็ได้” แต่ลูกบอกว่า “ขาพ่อไม่ดี ขึ้นรถเมล์ดีกว่า”
ลูกเข้ากรุงเมื่อ 5 ปีก่อนเพื่อมาเรียนต่อ เกือบจะต้องสละสิทธิ์แล้ว หากมิใช่เพราะได้รับทุนการศึกษา อาศัยข้าวก้นบาตรต่อชีวิต จนเทอมสุดท้าย งานวิทยานิพนธ์หนักมาก จึงมาเช่าห้องอยู่กับเพื่อน แกไม่เคยส่งเสียลูกสักบาทเดียว ลูกหาเงินมาเรียนเองโดยตลอด
วันที่ลูกบอกว่าเรียนจบแล้ว ลูกบอกว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาเพราะจะได้ประหยัดเงิน แกบอกว่า “ครั้งนี้อย่าประหยัดเลย ขอสักครั้งเถอะลูก”
-3-
หน้ามหาวิทยาลัยมีคนมากมาย ดอกไม้กับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะกับเสียงนับ “1-2-3” ตอนถ่ายรูป แกสวมสูทที่ยืมมาจากกำนัน ใส่แล้วรู้สึกแปลกๆ เป็นอีก ‘ครั้งแรกในชีวิต’
ลูกยืมกล้องถ่ายรูปเก่าจากเพื่อนคนหนึ่ง วานให้เพื่อนๆ ถ่ายรูปคู่กับพ่อ หน้าคณะที่เรียน
ครั้นหลังเที่ยง ลูกกับเพื่อนๆ เข้าไปรอในหอประชุม แกนั่งรอใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างนอก เสียงคุยของคนกลุ่มใหญ่ลอยมาแผ่วๆ แกมองไปรอบตัว ที่นี่ร่มรื่นดี ไม่เคยฝันว่าวันหนึ่งลูกของแกจะไต่มาถึงจุดนี้ได้
แกลุกขึ้นเมื่อเสียงคนของคนเงียบลง เห็นขบวนรถแล่นเข้ามา ผู้คนยืนสำรวม ใจเต้นแรงขึ้นเมื่อรถยนต์แล่นไปที่หน้ามุขของหอประชุม
แกจ้องตาไม่กะพริบ เห็นคนคนหนึ่งก้าวลงมาจากรถ แต่ภาพนั้นถูกคนบัง เห็นเงาร่างนั้นก้าวเข้าไปในหอประชุมเพียงแวบหนึ่ง ภาพนั้นก็ถูกคนบังอีก
แกประนมมือขึ้นเหนือหัว
-4-
ลูกออกจากหอประชุมตอนเกือบเย็น แกถามลูก “จะได้รูปเมื่อไร? ทันพ่อกลับไหม?”
“พ่อจะกลับเมื่อไรครับ?”
“พรุ่งนี้เย็น”
“ไม่ทันหรอกพ่อ ร้านบอกว่าต้องใช้เวลาอาทิตย์หนึ่ง แล้วผมจะส่งไปให้ทันทีที่ได้”
“เสียดาย นึกว่าจะเอากลับไปพร้อมกัน”
“พ่ออยากดูวัดพระแก้วไหม? หรือวัดอรุณฯ? ยักษ์วัดแจ้ง หรือจะดูพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย พ่อไม่เคยมากรุงเทพฯ”
“ไม่ล่ะ”
ไม่ได้มาเที่ยว มาเพื่อดูลูกในชุดครุย ถ่ายรูปคู่กับพระองค์ และถ้าโชคดีได้เห็นพระพักตร์สักแวบก็พอใจแล้ว เข้ากรุงครั้งนี้ก็สมหวังทั้งสองอย่าง ถึงจะเห็นแค่เงาร่างพระองค์เพียงแวบเดียวก็เป็นบุญแล้ว
พรุ่งนี้ได้เวลากลับบ้าน
-5-
ลูกวิ่งมาที่สถานีรถไฟ ยื่นถุงกระดาษให้พ่อ แกดึงสิ่งของภายในถุงออกมา เป็นรูปถ่าย กรอบรูปเป็นไม้เรียบๆ ไม่มีลวดลาย
“ไหนว่าเสร็จไม่ทันไง”
“ผมขอร้องเจ้าของร้านช่วยเร่งให้เมื่อคืน บอกเขาว่าพ่อจะเอารูปกลับต่างจังหวัดไปติดฝาบ้าน พูดเท่านี้เขาก็รับปาก ทำเสร็จจนได้”
รถไฟเคลื่อนออกจากสถานี มือจับรูปถ่ายในมือและครุ่นคิดไปตลอดทาง จะติดบนฝาผนังที่หน้าบ้าน หรือบนกำแพงห้องนอน หรือบนขื่อตำแหน่งใต้พระบรมฉายาลักษณ์… เดี๋ยวก็รู้
ผมอยากเล่าเรื่องพระราชทานปริญญาบัตรในมุมมองของคนธรรมดา คนเล็กๆ มุมเล็กๆ ฉากเล็กๆ เพื่อแสดงให้เห็นพลังของหนึ่งในพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ต่อชาวบ้านธรรมดา โครงเรื่องสะท้อนเรื่องจริงของผู้เขียน และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงของคนจำนวนมากในประเทศนี้เช่นกัน
วินทร์ เลียววาริณ
อายุ 61 ปี, ชาวสงขลา / กรุงเทพฯ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, นักเขียนรางวัลซีไรต์
วิภว์ บูรพาเดชะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร happening ได้มีไมตรีจิตและอนุญาตให้นำบทความนี้ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร happening ฉบับ Heart Work ที่รวบรวม 70 เรื่องราว ‘การงาน’ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเผยแพร่ในเว็บไซต์ THE STANDARD
หากผู้อ่านสนใจอ่านเรื่องราวทั้งหมด สอบถามและสั่งซื้อนิตยสาร happening ฉบับ Heart Work ได้ที่ happening mag และ happening shop
* หมายเหตุ: รายได้ 10% จากการจำหน่ายนิตยสารเล่มนี้ happening จะนำสมทบมูลนิธิพระดาบส
ภาพประกอบ: Karin Foxx