×

ดาวหาง C/2024 L5 จะถูกเหวี่ยงออกจากระบบสุริยะ หลังโคจรเข้าไปเฉียดใกล้ดาวเสาร์

27.10.2024
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์พบว่าดาวหาง C/2024 L5 (ATLAS) จะถูกเหวี่ยงออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล หลังโคจรเข้าไปเฉียดใกล้ดาวเสาร์เมื่อปี 2022

 

ดาวหางดวงนี้ถูกพบเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน 2024 โดยระบบติดตามดาวเคราะห์น้อย โครงการ ATLAS หรือ Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ร่วมค้นพบดาวเคราะห์น้อย C/2023 A3 หรือดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ที่กำลังปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำในขณะนี้

 

จากการติดตามตำแหน่งของดาวหาง C/2024 L5 รวมกว่า 142 ครั้ง ทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าดาวหางดวงนี้มีวิถีโคจรแบบไฮเปอร์โบลา หรือจะมุ่งหน้าออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล หลังจากเข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 10 มีนาคม 2025 ด้วยระยะห่างประมาณ 513 ล้านกิโลเมตร

 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์พบว่าดาวหางดวงนี้ได้โคจรเข้าเฉียดใกล้ดาวเสาร์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2022 ด้วยระยะห่างประมาณ 392,000 กิโลเมตร หรือใกล้เคียงกับระยะห่างโลก-ดวงจันทร์ ทำให้ได้รับอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ก๊าซดวงนี้กระทำต่อวิถีโคจร ส่งผลให้ C/2024 L5 ถูกเหวี่ยงออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาล ตามรอยดาวหาง C/1980 E1 (Bowell) ที่ได้รับอิทธิพลจากการเข้าไปเฉียดใกล้ดาวพฤหัสบดีจนถูกเหวี่ยงออกจากระบบสุริยะไปในที่สุด

 

แม้จะมีการค้นพบดาวหางที่มีต้นกำเนิดจากนอกระบบสุริยะ ได้แก่ ดาวหาง 1I/ʻOumuamua และ 2I/Borisov ซึ่งเป็นผู้มาเยือนจากนอกขอบเขตระบบสุริยะ และโฉบผ่านเข้ามาในระบบดาวของเราในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนเดินทางจากไปโดยไม่มีวันหวนกลับ แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหาง C/2024 L5 มีต้นกำเนิดอยู่ในระบบสุริยะก่อนถูกดีดออกไปในภายหลังแทน

 

สำหรับดาวหาง C/2024 L5 (ATLAS) ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าจากบนโลก แม้จะมีกำหนดเข้ามาเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ในช่วงต้นปี 2025 แต่ก็ยังอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากถึง 3.4 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 3.4 เท่าของระยะห่างโลก-ดวงอาทิตย์ และจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.8 กิโลเมตรต่อวินาที ระหว่างเดินทางออกสู่ห้วงอวกาศระหว่างดาวฤกษ์ (ยาน Voyager 1 มุ่งหน้าออกไปด้วยความเร็ว 16.9995 กิโลเมตรต่อวินาที)

 

ภาพ: JPL-Caltech / SSI / CICLOPS / Kevin M. Gill / NASA

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X