ทีมวิศวกรผู้วิจัยด้านประสาทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียอยู่ในระหว่างขั้นตอนศึกษาพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และเครื่องสังเคราะห์เสียง ให้สามารถอ่านกิจกรรมภายในสมองของมนุษย์ (Brain Activity) ก่อนสรุปความออกมาเป็นประโยค เป็นคำ หรือถ้าให้อธิบายโดยง่ายคือ สามารถอ่านใจหรือความคิดของมนุษย์ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นประโยคคำพูดได้นั่นเอง
ฮัซซาน อักบารี และคณะผู้วิจัยได้เผยแพร่โครงร่างงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อวันอังคารที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เพื่ออธิบายว่า งานวิจัยที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่นั้นจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการสื่อสาร เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดในสมอง และผู้ป่วยในกลุ่มโรคเส้นประสาทสั่งการ (ALS) ให้กลับมาสื่อสารได้อีกครั้งในอนาคต ผ่านปัญญาประดิษฐ์ที่อาศัยโมเดลการเรียนรู้แบบ Deep Learning ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการสังเคราะห์เสียงพูดขั้นสูงสุด
ทีมวิจัยเล่าไอเดียว่า หากพัฒนาจนถึงที่สุดแล้ว ระบบปัญญาประดิษฐ์นี้จะสามารถอ่านกิจกรรมภายในสมองของผู้ป่วย แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นประโยคได้ เช่น ถ้าผู้ป่วยสวมใส่เครื่องอ่านความคิด แล้วคิดในใจว่าอยากได้น้ำสักแก้ว ระบบจะสามารถอ่านคลื่นสมอง และเปลี่ยนให้กลายเป็นคำพูดผ่านระบบสังเคราะห์เสียง
ดร.นิมา เมสการานี กล่าวว่า “งานวิจัยนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ที่จะช่วยให้ใครหรือผู้ป่วยรายใดก็ตามที่สูญเสียความสามารถในการพูด ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากอาการบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคใดๆ ก็ตาม ให้สามารถกลับมาสื่อสารกับโลกรอบตัวได้อีกครั้ง”
ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังทำงานได้แค่อ่านเสียงจากสิ่งที่ผู้ป่วยได้ยินเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่สามารถอ่านความคิดของสิ่งที่เขาต้องการจะพูด แต่เชื่อกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การพัฒนาจะทำให้ความสามารถของมันอ่านความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยได้ในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: