×

ผึ้งหายไปไหน เรื่องเก่าที่วนมาเล่าใหม่

24.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • มีรายงานว่าผึ้งหายไปเยอะมากในกลางเดือนพฤศจิกายน 2006 เมื่อคนเลี้ยงผึ้งชาวเพนซิลเวเนียจนถึงฟลอริดารายงานว่าตัวเองประสบเหตุแบบเดียวกันโดยอธิบายไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
  • นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Colony Collapse Disorder หรือ CCD ซึ่งก็แปลว่าอยู่ๆ ‘อาณานิคม’ ของผึ้งก็ ‘พังทลาย’ ลงไป
  • ในบทความ Hive Scourge? Virus linked to recent honeybee die-off ของซูซาน มิลิอุส (Susan Milius) บอกว่าเป็นไปได้ที่การหายไปของผึ้งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์

ราวสิบปีกว่าที่แล้ว คือในช่วงปี 2006-2007 คุณคงจำได้ว่ามีข่าว ‘ผึ้ง’ หายตัวไปอย่างลึกลับ

 

ผึ้งที่ว่าไม่ใช่ชื่อของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือชื่อของดาราคนไหนนะครับ แต่หมายถึงผึ้งที่เรียกว่า Honey Bee หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็ต้องบอกว่าเป็นผึ้ง Western Honey Bee หรือ Apis mellifera โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ รวมถึงในยุโรปหลายประเทศ เช่น เบลเยียม, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, กรีซ, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปน แต่ที่มีสถิติหายไปมากที่สุดก็คือผึ้งจากไอร์แลนด์เหนือ คือหายไปถึงกว่า 50%

 

นักวิทยาศาสตร์ตอบไม่ได้จริงๆ นะครับว่าเพราะอะไร จู่ๆ ผึ้งงานของเหล่ารวงรังเหล่านี้ถึงหายตัวกันไปหมด

 

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่จริงๆ มีบันทึกเรื่องแบบนี้มานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในปลายศตวรรษที่ 19 แต่ไม่เคยเกิดกันแบบเป็นวงกว้างหรือหายกันไปเยอะขนาดนี้มาก่อน

 

ก่อนหน้าปี 2006-2007 ผึ้งหายไปแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่หายไปในอัตราราว 17-20% เท่านั้น ไม่ได้หายเยอะหายแยะเหมือนที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2006 คือหายไประหว่าง 30-90% คือบางที่หายไปแทบจะหมดเกลี้ยงเลย

 

นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Colony Collapse Disorder หรือ CCD ซึ่งก็แปลว่าอยู่ๆ ‘อาณานิคม’ ของผึ้งก็ ‘พังทลาย’ ลงไป เหมือนกับพวกผึ้งงานหนีหายไป (อาจจะตายหรือไม่กลับมาที่รังอีก) ปล่อยให้เหลือแต่ราชินีผึ้งกับผึ้งพยาบาลอีกไม่กี่ตัวคอยดูแลผึ้งที่ยังไม่โตเต็มวัยไปตามเพลง ผลลัพธ์ก็คือรังผึ้งนั้นๆ เกิดอาการล่มสลายไม่เหลืออีก

 

อาการ CCD ที่มีรายงานกันครั้งแรกว่าผึ้งหายไปเยอะมาก เกิดขึ้นในกลางเดือนพฤศจิกายน 2006 เมื่อคนเลี้ยงผึ้งชาวเพนซิลเวเนียจนถึงฟลอริดารายงานว่าตัวเองประสบเหตุแบบเดียวกันโดยอธิบายไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

 

ปกติแล้วในฤดูหนาวผึ้งจะหายไปจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว เพราะสภาพอากาศ แต่ไม่เคยเลยที่จะหายไปมากถึงขนาดนี้ ทำให้อาณานิคมผึ้งที่เหลืออยู่นั้นอ่อนแอ เพราะผึ้งที่มีเหลืออยู่ไม่สามารถออกไปหาน้ำหวานจากดอกไม้มาทำน้ำผึ้งได้มากพอ ซึ่งสร้างความเสียหายมาก เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนมากทั่วโลก ต้องได้รับการผสมเกสรโดยผึ้ง สำนักงานอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติรายงานว่า มูลค่าของพืชผลโลกที่สูญเสียไปเนื่องจากผึ้งหายไปในปี 2006 นั้น เกือบแตะสองแสนล้านเหรียญ ซึ่งเป็นปริมาณมหาศาลมาก

 

การเกิดขึ้นของ CCD นั้น ต้องบอกว่ามันมาอย่างลึกลับ แต่แล้วจากไปอย่างลึกลับด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ CCD มาถึงช่วงพีกสุดๆ ในปี 2007 มีผึ้งหายไปเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นอาการที่ว่าก็ค่อยๆ ลดน้อยลง จนในระยะหลัง เรื่องของผึ้งหายนี่ไม่ค่อยเป็นปัญหาอีกแล้ว คือหายน่ะมีอยู่ แต่ไม่ถึงขั้นเป็น CCD โดยนักวิทยาศาสตร์ก็คอยจับตาดูอยู่เป็นระยะๆ เพื่อเก็บสถิติว่า การที่ผึ้งหายไปนั้นถึงขั้นเป็น CCD แล้วหรือยัง

 

คำถามที่หลายคนยังคาใจเอามากๆ ก็คือ แล้ว CCD มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า อาการของ CCD ในผึ้งนั้นคล้ายกับไข้หวัดสเปนที่เคยเกิดขึ้นกับมนุษย์ คืออยู่ๆ ก็มาคร่าชีวิตมนุษย์ไปเป็นล้านๆ คน แล้วจากนั้นก็หายไปเสียเฉยๆ จนบัดนี้ยังอธิบายไม่ได้กระจ่างกันเลยว่าทำไมไข้หวัดจึงระบาดขนาดนั้น และทำไมถึงหายไป

 

ในบทความของซูซาน มิลิอุส (Susan Milius) ที่ออกมาเมื่อปี 2007 ชื่อ Hive Scourge? Virus linked to recent honeybee die-off เธอบอกว่า เป็นไปได้ที่การหายไปของผึ้งอาจเกิดจากเชื้อไวรัสแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์ โดยในตอนนั้นเชื้อไวรัสที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือเชื้อที่เรียกว่า IAPV หรือ Israeli Acute Paralysis Virus แต่ในที่สุดก็บอกไม่ได้แน่ชัดว่ามันเป็น ‘ตัวการเดียว’ ที่ทำให้เกิด CCD หรือเปล่า

 

นักกีฏวิทยาอีกคนหนึ่งคือ เจฟฟ์ เพ็ตทิส (Jeff Pettis) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย บอกว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่อาการ CCD จะไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว แต่เกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน แต่การทดลองหาสาเหตุนั้นเป็นเรื่องยากมาก คือพอจะเอาผึ้งมาเลี้ยงเพื่อดูว่ามันจะเกิด CCD ไหม และถ้าเกิดจะได้หาเหตุผลได้ ก็ปรากฏว่ารอคอยกันนานหลายปี ผึ้งที่เลี้ยงไว้ก็ไม่มีอาการ CCD เลย ทำให้ไม่สามารถหาเหตุผลอะไรได้

 

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสมัยที่ผมเรียนชีวเคมี ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งต้องทดลองเกี่ยวกับราที่ผลิตสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นราที่พบในถั่วลิสง รุ่นพี่บอกว่าถ้าไปซื้อถั่วมากินนี่เจอสารพิษที่ว่าเยอะมาก นั่นแปลว่ารามันผลิตสารพิษนี้ออกมาได้เยอะทีเดียว แต่พอเอามาเลี้ยงในสภาพที่เหมาะสม (คือน่าจะดีและเหมาะกับรายิ่งกว่าสภาพที่คนขายถั่วเลี้ยง เพราะคนขายถั่วต้องพยายามกำจัดราทิ้งไปให้ได้มากที่สุด) ปรากฏว่าราตายเยอะมาก ผลิตสารพิษได้น้อยมากๆ

 

บ่อยครั้งทีเดียว การทดลองทางวิทยาศาสตร์ (อันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะต้องอาศัยโชคหรือดวง) จึงกลับเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยโชค ดวง หรือพระเจ้ามาช่วยอยู่บ่อยๆ

 

ย้อนกลับไปที่ผึ้งของเรากันอีกทีนะครับ เพราะแม้ข้อมูลจะบอกเราว่าผึ้งที่หายไปนั้นลดลง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าในแต่ละปีการหายไปของผึ้งจะลดลงจนถึงระดับปกตินะครับ

 

ผึ้งจะหายไปในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นเวลาจะดูฤดูผึ้งหาย จึงเป็นช่วงปลายปีต่อต้นปี นับตั้งแต่ปี 2006-2007 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึง 2016-2017 พบว่าผึ้งหายไปน้อยกว่าช่วงปี 2006-2007 ก็จริงอยู่ แต่มันยังไม่ได้น้อยลงถึงขั้นที่นักเลี้ยงผึ้ง ‘ยอมรับได้’ เหมือนในสมัยก่อนนะครับ

 

นักเลี้ยงผึ้งคาดหมายว่าผึ้งควรจะหายไปไม่เกิน 20% แต่ไม่เคยมีปีไหนเลยที่ผึ้งหายไปน้อยกว่า 20% ซึ่งก็ต้องบอกว่ายังน่าหวาดเสียวอยู่มาก เพราะถ้าผึ้งหมดไปจากโลกจริงๆ ละก็ สิ่งมีชีวิตที่จะสูญพันธุ์ตามผึ้งไปมีอีกมากมายมหาศาล และอาจรวมทั้งมนุษย์เราด้วย

 

ทุกวันนี้ องค์กรอย่าง Bee Informed Partnership ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร จะคอยจับตาดูอัตราการลดลงของผึ้งอยู่ตลอด โดยองค์กรนี้บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้ผึ้งหายไปมีอยู่ 4 อย่าง คือ Poor Nutrition (คือสารอาหารไม่ดี), Pesticides (คือยาฆ่าแมลง), Pathogens (คือเชื้อโรคอย่างไวรัสที่ว่ามา) และ Parasites (คือปรสิตต่างๆ ที่เข้ามารบกวนผึ้ง) โดยทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

 

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าผึ้งคงไม่ถึงขั้น ‘หมดโลก’ ไปในเร็ววันหรอกนะครับ แต่มันอาจจะหมดไปจากบางภูมิภาคที่เคยมี แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะผลลัพธ์ของมันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ประมาณว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ

 

เพราะถ้าไม่มีผึ้ง – ก็อาจไม่มีมนุษย์!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X