ทราบหรือไม่ว่าไอศกรีมกะทิที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากัน และนิยมรับประทานเพื่อดับร้อนนั้นมีประวัติยาวนานมาหลายชั่วอายุคน เพราะหลังจากที่น้ำแข็งเดินทางมาถึงดินแดนสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 จวบจนถึงเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มีผู้ค้นพบบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้กล่าวถึงการทำไอศกรีมในหนังสือเรื่อง ‘ความทรงจำหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2414’ ไว้ว่า
“ไอศกรีมเป็นของที่วิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กที่เขาทำกันตามบ้านเข้ามา ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมบ้างบางวันก็ไม่มี จึงเห็นเป็นของวิเศษ”
และด้วยความวิเศษนี้ ในสมัยโบราณไอศกรีมจึงกลายเป็นของเสวยของบรรดาเจ้าขุนมูลนายในรั้ววังแต่เพียงเท่านั้น
ไอศกรีมที่นิยมรับประทานกันในยุคนั้นมีลักษณะเป็นเกล็ดแข็งจากมะพร้าวอ่อนและใส่เม็ดมะขามคั่ว จนไอศกรีมได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นหลังมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งในเมืองไทย ช่วงแรกนั้นราคาของไอศกรีมยังมีราคาแพงเนื่องจากใช้วัตถุดิบหลักคือนมและครีมจากต่างประเทศ ชาวบ้านจึงได้นำกะทิสดซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำไอศกรีมแทน วัตถุดิบดังกล่าวทำให้ไอศกรีมในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นน้ำแข็งละเอียด รสชาติไม่หวานมาก และมีกลิ่นหอมของดอกนมแมว ก่อนที่จะเริ่มมีวิวัฒนาการของไอศกรีมกะทิ โดยการใช้กะทิสดผสมกับน้ำตาลแล้วนำไปปั่นให้แข็ง เนื้อสัมผัสค่อนข้างเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด ตักใส่ถ้วยเป็นลูกๆ หรือที่เรียกติดปากกันว่าไอติมตัก แล้วเติมเครื่องเคราที่คนไทยชื่นชอบอย่าง ข้าวเหนียว ลูกชิด ขนุนฉีก ลอดช่อง เผือก เม็ดแมงลัก มันเชื่อม และโรยด้วยถั่วลิสงเพื่อเสริมความอร่อยเข้าไปอีกขั้น ไอศกรีมกะทิจึงนับว่าเป็นขนมหวานที่ถูกคิดค้นและสร้างสรรค์จากฝีมือคนไทยอย่างแท้จริง
จากเรื่องราวของไอศกรีมกะทิในยุคอดีตก้าวข้ามเวลามาสู่ปัจจุบัน ไอศกรีมกะทิยังคงเป็นของหวานที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง เพราะไอศกรีมกะทิได้ถูกสร้างสรรค์ให้มีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของไอศกรีมที่เราคุ้นเคย เช่น ตักโปะลงบนขนมปังก้อน ตักใส่กรวยกรอบ แบบที่ตกแต่งมาในกะลามะพร้าวหรือลูกมะพร้าวอ่อน หรือแบบแท่งที่ถือรับประทานกันแบบง่ายๆ ซึ่งร้านอาหารหลายๆ แห่ง ก็นำเอาไอศกรีมกะทิมาครีเอตเป็นเมนูของหวานที่อาจจะดูไม่คุ้นตา แต่รสชาติอร่อยคุ้นเคย อย่างที่ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ได้เลือกเอาไอศกรีมกะทิมารังสรรค์เป็น 2 เมนูของหวานสำหรับช่วงเมษาฯ หน้าร้อนโดยเฉพาะ จากไอศรีมกะทิที่ใส่ถ้วยทานกันแบบธรรมดาทั่วๆ ไป ก็นำมาแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยท็อปปิ้งของหวานสไตล์ไทย อาทิ ลอดช่อง มันเชื่อม ทับทิบกรอบ และอื่นๆ มาเป็นเมนูกะทิเรนโบว์ ซันเด เสริมสตอรีความน่ากินด้วยโกลเด้นไซรัปที่ทำมาจากน้ำตาลมะพร้าวจากอัมพวา ราดเพิ่มรสชาติความหอมมันให้แก่ไอศกรีมกะทิดูมีมิติความน่ากินเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ที่เห็นจะครีเอตสุดๆ ก็คงเป็นการนำไอศกรีมกะทิมาผสมผสานหรือประยุกต์กับเมนูของหวานจากต่างประเทศอย่าง บิงซู ซึ่งบาร์บีคิวพลาซ่าได้ครีเอตขึ้นมาเป็นเมนูใหม่พิเศษ ในชื่อกะทิเรนโบว์ บิงซู ด้านนอกเป็นบิงซูรสชาติหวานหอมของกลิ่นกะทิอบควันเทียนสไตล์ไทย ด้านในเป็นไอศกรีมกะทิสัญชาติไทยแท้ๆ เสริมด้วยเครื่องรวมมิตรของหวานสีสันดึงดูดสายตา ที่สำคัญใส่ด้วยภาชนะขันเงิน เข้ากับแทรนด์การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในช่วงนี้
จากประวัติอันยาวนานของไอศกรีมกะทิที่สร้างสรรค์ขึ้นจากภูมิปัญญาของคนไทย ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ความหอม หวาน มันของไอศกรีมกะทิจะมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงคือรสชาติของกะทิที่ผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นของหวานไทยที่ยังทรงคุณค่าและอร่อยไม่แพ้ใครในโลก
อ้างอิง:
- ประโยชน์ของกะทิที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้ ภายใต้เนื้อสัมผัสที่นวลเนียนและกลิ่นหอมละมุนของไอกรีมที่ทำมาจากกะทิสดๆ นั้น มีประโยชน์ที่ซ่อนไว้มากมายที่เราคาดไม่ถึง เช่น มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ออกมาแล้วว่าการรับประทานเนื้อมะพร้าวสามารถช่วยลดระดับของ LDL หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้
- ในน้ำกะทิมีสารแอนติออกซิแดนต์และกรดลอริกที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงได้
- ในน้ำกะทิมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียและต่อต้านเชื้อราในร่างกายได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับในน้ำมะพร้าว
- น้ำกะทิเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในนม แต่อย่างไรก็ตาม ในน้ำกะทิมีแคลเซียมไม่สูงเท่ากับนมถั่วเหลือง