การเปิดตัวรสชาติใหม่นับเป็นกลยุทธ์ของ Coca-Cola ผู้นำตลาดน้ำดำ ที่มีเป้าหมายนำเครื่องดื่มในพอร์ต ทั้งโค้ก, แฟนต้า, มินิทเมด และชเวปส์ เข้าไปกวาดลูกค้าทุกช่วงอายุ รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘อู-ฮ่า’ เครื่องดื่มโซดากลิ่นผลไม้ น้ำตาล 0% ที่ผลิตขึ้นมาจับกลุ่มลูกค้า Gen Z โดยเฉพาะ
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Coca-Cola ถือว่ามีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเครื่องดื่มออกมาสู่ตลาดอยู่เป็นระยะ แม้เราจะเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 56% แต่ก็ต้องไม่หยุดสปีดธุรกิจให้เติบโตขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญจะทำให้เราสามารถครองใจและรับมือกับตลาดเครื่องดื่มและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้” ริชา ซิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Coca-Cola ประจำประเทศไทย เมียนมา และ สปป.ลาว กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดตัวสินค้าและรสชาติใหม่แต่ละครั้งล้วนมาจากอินไซต์ของผู้บริโภค ที่บริษัทได้เก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ ซึ่งพบว่า Gen Z มองหาเครื่องดื่มโซดารสชาติแปลกใหม่และหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์ของเครื่องดื่มผสมโซดาที่เริ่มมาแรงตั้งแต่ปี 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- “จากนี้ไปเราต้องการเติบโตมากกว่า 2 เท่าของตลาด และเพิ่มส่วนแบ่ง 1% ในทุกๆ ปี” เป้าหมายใหญ่ของ ‘ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค’ หลังควบรวมธุรกิจมาได้ 5 ปีแล้ว
- ยักษ์เครื่องดื่มน้ำอัดลมเปิดศึก! ส่งแคมเปญ พร้อมดึงพรีเซนเตอร์ไทย-เกาหลี จับ Gen Z ช่วงชิงยอดขายรับซัมเมอร์
- ชาเขียวฟื้นแล้วแต่ยังไม่มากพอ ‘ตัน ภาสกรนที’ มองหาน่านน้ำใหม่ ส่ง ‘ตันซันซู’ น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี ปีแรกหวังรายได้ 500 ล้านบาท
สร้างอานิสงส์ให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มผสมโซดากลิ่นผลไม้เติบโตขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีมูลค่า 56,000 ล้านบาท โดยตลาดน้ำอัดลมก็มีการเติบโตขึ้น 7%
Coca-Cola มั่นใจว่าเครื่องดื่มอู-ฮ่า จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะไม่มีน้ำตาลและแคลอรี และการทำการตลาดหลังจากนี้จะเน้นสื่อสารผ่านสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี
สำหรับทิศทางในการพัฒนาสินค้าใหม่ในปีนี้มองว่า กลุ่ม Gen Z ยังเป็นหัวใจสำคัญในการคิดค้นรสชาติและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะออกกี่รสชาติ แต่พยายามจะโฟกัสสินค้าเครื่องดื่มทั้งรสชาติเก่าและใหม่ ซึ่งถ้าเทียบกับปี 2565 Coca-Cola ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ ทั้งกลุ่มเครื่องดื่มโค้ก แฟนต้า และชเวปส์ ไปกว่า 15 รายการ และส่วนใหญ่เป็นสูตรไม่มีน้ำตาล
ถือเป็นจังหวะที่ดีหลังโควิดคลี่คลาย และทุกๆ กลุ่มสินค้าเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาล ยิ่งในช่วงฤดูร้อนที่ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มเพื่อดับกระหาย
ทั้งนี้ ในปี 2566 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการนำดิจิทัลและ AI เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน ทั้งการวัดค่าประเมินผลต่างๆ ในองค์กร และใช้ AI เก็บคลังข้อมูลมาพัฒนากลยุทธ์ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม อีกด้านของธุรกิจเครื่องดื่มก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุน ทั้งการขนส่งและเงินเฟ้อ ทำให้ต้นปีที่ผ่านมา Coca-Cola ได้ปรับราคากลุ่มสินค้าน้ำอัดลมเพิ่มขึ้น 1 บาท เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น