×

‘โคลเวอร์ เพาเวอร์’ เดินหน้าเพิ่มทุน ระดมเงิน 3.84 พันล้านบาท ลุยลงทุน-คืนหนี้ ด้านหุ้นใหญ่ ‘เศรษฐศิริ’ ลั่นพร้อมซื้อ RO เกินสิทธิ์

08.09.2023
  • LOADING...
Clover Power

บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ เปิดแผนใช้เพิ่มทุน RO เตรียมซื้อหุ้น ‘เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล’ สัดส่วน 20% คิดเป็นมูลค่า 1,040 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทน หวังปี 2567 ผลงานพลิกมีกำไร

 

เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนการทุนของบริษัทเตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เพื่ออนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน 1,920 ล้านบาท จาก 640 ล้านบาท เป็น 2,560 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 3,840 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งเป็น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 2,560 ล้านหุ้น จัดสรร 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นเพิ่มทุน ที่ราคาหุ้นละ 1 บาท และยังได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 1 (CV-W1) ไม่เกิน 1,280 ล้านหุ้น อัตรา 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 หน่วยวอร์แรนต์ โดย CV-W1 ดังกล่าวมีอายุ 5 ปี นับจากวันที่ได้ออก 

 

และหากกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิ์จองซื้อ RO ไม่ครบตามสิทธิ์ที่ได้รับจัดสรร บริษัทพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวนไม่เกิน 2,560 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขาย PP ที่ไม่ต่ำกว่า 90% ของราคาตลาด และจะไม่ต่ำกว่า 1 บาท

 

‘เศรษฐศิริ’ หุ้นใหญ่ CV พร้อมซื้อ RO เกินสิทธิ์

 

โดยบริษัทคาดหวังว่าผู้ถือหุ้นเดิมจะใช้สิทธิ์จองหุ้นครบตามจำนวนที่จัดสรรซึ่งจะทำให้ได้รับเงินจากการเพิ่มทุนเข้ามาจำนวน 2,560 ล้านบาท และจากการแปลงสิทธิ CV-W1 อีก 1,280 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 3,840 ล้านบาท 

 

แผนการใช้เงินจากการเพิ่มทุนจะแบ่งใช้ซื้อหุ้น บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) สัดส่วน 20% ของหุ้นที่ออกและจำหน่าย ในราคาหุ้นละ 28.10 บาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,040 ล้านบาท ซึ่งประกอบธุรกิจจัดการซากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน (Dismantle Recycling) รวมทั้งการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (Solid Recovered Fuel: SRF) และธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 

 

ส่วนเงินที่เหลือจะแบ่งนำไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมอีกจำนวนไม่เกิน 500 ล้านบาท อีกส่วนจัดสรรไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจำนวนไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมทั้งใช้ลงทุนรองรับการต่อยอดธุรกิจหลัก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในอนาคตอีกจำนวนไม่เกิน 2,056 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างฐานธุรกิจรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

“ส่วนตัวผมในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 28.09% ยืนยันว่าจะใช้สิทธิ์ซื้อ RO ให้ได้มากที่สุดซึ่งพร้อมที่สิทธิซื้อ RO เกินสิทธิ์ที่ได้รับการจัดสรร (Oversubscription) ส่วน นิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ CV ถือเป็นพิจารณาตัดสินใจส่วนตัวคงไม่สามารถตอบแทนได้” เศรษฐศิริกล่าว

 

อย่างไรก็ดี แผนเพิ่มทุน PP จะเป็นทางเลือกลำดับสุดท้ายที่บริษัทจะพิจารณานำมาใช้ โดยกรณีที่การเพิ่มทุน RO มีผู้ถือหุ้นเดิมมาใช้สิทธิ์รอบแรกแล้วยังมีหุ้น RO เหลือ บริษัทก็พร้อมที่จะพิจารณาการขาย RO ในครั้งที่ 2 รวมถึงให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นที่ต้องการซื้อ RO แบบ Oversubscription โดยบริษัทคาดว่ากระบวนการเพิ่มทุน RO จะดำเนินการเสร็จได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

 

คาดได้เงิน RO จำนวน 2.56 พันล้าน ไม่ทำ PP

 

โดยคาดว่าจะได้เงินจากการขาย RO รวม 2,560 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อแผนการขยายธุรกิจและแผนการนำเงินไปชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดในอนาคต ดังนั้นแผนเพิ่มทุนแบบ PP อาจไม่จำเป็นต้องใช้ อีกในขณะนี้บริษัทยืนยันว่าไม่ได้มีการเจรจาหรือหาพันธมิตรที่จะเข้ามาซื้อหุ้น PP ที่เหลือจาก RO 

 

เขากล่าวว่า ภายหลังจากการเพิ่มทุน และเข้าถือหุ้นใน WTX สัดส่วน 20% ทำให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดย WTX ดำเนินธุรกิจพลังงานคล้ายกับบริษัทซึ่ง WTX มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศที่เป็นสัญญาซื้อขายไฟ PPA จำนวน 1 โรง กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ และสัญญาซื้อขายไฟแบบ Private PPA จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 3.988  เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามจำนวน 1 โรง กำลังการผลิต 29 เมกะวัตต์ และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในประเทศเมียนมาอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 150 เมกะวัตต์

 

อีกทั้ง WTX ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่จะได้รับ PPA อีกจำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19 เมกะวัตต์ และยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กอีกจำนวน 2 โครงการ

 

นอกจากนี้ WTX ยังมีธุรกิจต้นน้ำคือ ธุรกิจจัดการรถยนต์เก่า, โรงแปรรูปเชื้อเพลิงแข็งสำหรับขยะอุตสาหกรรม และธุรกิจรีไซเคิลเหล็ก ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันกับธุรกิจของ CV (Business Synergy) และเกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) รวมถึงยังได้ประโยชน์จาก Business Opportunity ระหว่าง CV และ WTX ในด้านวิศวกรรมการออกแบบก่อสร้างโครงการใหม่ๆ และรวมถึงงาน Operation & Maintenance (O&M) อีกทั้งเพิ่มช่องทางการได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในกลุ่มของพลังงานทดแทนและธุรกิจการขายเชื้อเพลิงแปรรูป เป็นการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ในระยะยาว

 

หวังผลงานปี 67 พลิกมีกำไร

 

สำหรับในปี 2567 คาดว่ารายได้ของ บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ ซึ่งมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจะเติบโต 5-10% จากปีนี้ โดยยังคงมุ่งเน้นพัฒนาและกระจายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจากพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท

 

พร้อมทั้งคาดว่าผลประกอบการในปี 2567 จะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ จากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ที่ยังมีผลขาดทุนจำนวน 89.54 ล้านบาท หลังจากการปรับโครงสร้างทุนและธุรกิจเพื่อรองรับการขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต อีกทั้งจะรับรู้กำไรจากการลงทุนใน WTX ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 20% 

 

นอกจากนี้ ยืนยันว่าการลงทุน WTX จากการศึกษาของบริษัทยืนยันว่าไม่ใช่การจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor) เพราะบริษัทเข้าถือหุ้นใน WTX เพียงสัดส่วน 20% และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WTX ก็ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน ดังนั้นการลงทุนใน WTX ของบริษัทจึงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

 

ขณะที่ปัจจุบัน บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 23.66 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 2 โครงการ โรงไฟฟ้าขยะจำนวน 1 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจำนวน 1 โครงการ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีกหลายโครงการ

 

ด้านธุรกิจเชื้อเพลิง บริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ในประเทศเวียดนาม เพื่อรองรับกับการขยายงานด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลในต่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X