ท่ามกลางภูมิอากาศที่แปรปรวน ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดที่ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนโลกเปลี่ยนไปชัดเจน ตัวเลขเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน หรือตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกและในรายภูมิภาคที่เป็นขาขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยเสี่ยงในเดือนนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกับเศรษฐกิจและการลงทุนในจีนที่เผชิญปัจจัยลบทั้งจากภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี ทำให้รัฐบาลจีนต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายมณฑล นอกจากนั้นการระบาดยังลามเข้าสู่ภาคการผลิตและการขนส่ง นำไปสู่การปิดท่าเรือสำคัญที่มีผลต่อการค้าโลก
นอกจากนั้นการลงทุนในตลาดการเงินจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ทั้งการห้าม Ant financial ที่เป็นธุรกิจการจ่ายเงิน (Payment) และธุรกรรมดิจิทัล (Digital Banking) ทำ IPO ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สั่งปรับ Meituan ที่เป็นธุรกิจส่งสินค้า (Delivery) ข้อหาผูกขาดการค้า สั่งห้าม DiDi ที่เป็นธุรกิจรับส่งผู้โดยสาร (Ride Hailing) รับลูกค้าใหม่ หลัง DiDi ไปจดทะเบียนในสหรัฐฯ และล่าสุดออกกฎห้ามธุรกิจสอนพิเศษออนไลน์ (Online Tutoring) แสวงหากำไร รวมถึงส่งสัญญาณว่าจะคุมเข้มธุรกิจเกมออนไลน์และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน
ภาพการคุมเข้มยังแจ่มชัดขึ้น หลังจากรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศแผน 5 ปีที่ระบุว่า จะยังคงเข้าบริหารจัดการภาคเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ประเด็นความมั่นคงของชาติ การแข่งขัน และการศึกษา เพื่อเสถียรภาพของสังคมจีนในระยะยาว ซึ่งเรามองว่า แม้ในระยะยาวนโยบายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพด้านสังคมและความมั่นคงของจีน แต่ในระยะสั้น เศรษฐกิจและการลงทุนจีนจะถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวอีกระยะหนึ่ง
ในส่วนของเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ นั้น แม้ตัวเลขในภาพรวมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยตัวเลขสำคัญ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับสูงขึ้นถึง 9.4 แสนตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขการว่างงานลดลงเหลือ 5.4% ของกำลังแรงงาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 5.4% ต่อปีใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่องค์ประกอบที่เคยมองว่าเป็นความเสี่ยงว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ราคารถมือสอง และค่าโดยสารเครื่องบิน เริ่มปรับลดลง ทำให้ตลาดมองว่าเป็นไปได้มากขึ้นที่การเพิ่มขึ้นเงินเฟ้อจะเป็นเพียงชั่วคราว (Transitory)
ในฝั่งของแนวนโยบายเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากการที่วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเม็ดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เสนอโดยทำเนียบขาว โดยเป็นความเห็นชอบของทั้งสองพรรคหลัก ทำให้หลายฝ่ายมองเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนสหรัฐฯ ในระยะต่อไป
แต่เรามองต่าง โดยมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นนี้เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดรอบใหม่ อันเป็นผลจาก Delta Variant ซึ่งตัวเลขเดือนถัดไปน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลง สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระดับเกิน 1 แสนรายต่อวัน ใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่ประเด็นเงินเฟ้อ แม้จะเริ่มลดลง แต่ก็เป็นผลจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ส่วนองค์ประกอบทั่วไปของเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งลูกจ้างภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ทำให้เราเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังคงเดินหน้าลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในระยะต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่เกิดจากค่าจ้าง (Wage-Price Spiral) โดยภาพเหล่านี้สะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์ของรองประธาน Fed หลายท่านในช่วงที่ผ่านมา
ในส่วนของการผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานนั้นเรามองว่ายังมีอุปสรรคในระยะต่อไป เนื่องจากสภาจะยังคงต้องผ่านร่างกฎหมายสวัสดิการสังคมมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ไปพร้อมกัน ซึ่งยังคงมีรายละเอียดที่ต้องถกอีกมาก นอกจากนั้นสภายังคงต้องตกลงในประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ที่ครบกำหนดลงตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตมีมุมมองแตกต่างชัดเจน ทำให้ความเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูง
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัว 7.5% ต่อปี (และ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) จะเท่ากับที่เราคาดและสูงกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากภาวะฐานต่ำเป็นหลัก โดยการบริโภคและลงทุนเอกชน และส่วนต่างสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การส่งออกบริการหายไป และทำให้ส่งออกสุทธิเป็นลบ
แม้ว่าตัวเลขส่งออกไตรมาส 2 นี้อาจมีปัจจัยบวกบ้างจากที่ Inventory ที่เพิ่มขึ้น จากสินค้าส่งออกเป็นหลัก เช่น เครื่องประดับ อัญมณี พลาสติก ยางสังเคราะห์ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ส่วน Inventory ที่ลดลง ได้แก่ สินค้าเกษตรเป็นหลัก บ่งชี้ว่า อาจยังไม่ต้องกังวลประเด็นสินค้าส่งออกขาดตลาดจากการระบาดของโควิดมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหากพิจารณาการขยายตัวของ GDP รายไตรมาสบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าภาวะถดถอย แต่การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว และมีความเสี่ยงจะหดตัวมากขึ้นในไตรมาส 3 ที่เผชิญกับการระบาดระลอกใหม่
ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงอย่างมีนัยสำคัญ (จากค่ากลาง 2.0% เป็น 1.0% เท่ากับที่เราคาด) จากการระบาดรอบใหม่ โดยสภาพัฒน์ตั้งสมมติฐานการระบาดลากยาวถึงสิ้นเดือนสิงหาคมก่อนจะลดลง ขณะที่การคาดการณ์ของกรมควบคุมโรคนั้นคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะไปทำจุดสูงสุด ณ เดือนกันยายน ที่ระดับเกิน 40,000 รายก่อนลดลง
เรามองว่า การคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และแรงกดดันต่อทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดการประกาศมาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า สมมติฐานการระบาดของสภาพัฒน์เป็นไปได้สูง เนื่องจาก
- จำนวนผู้ป่วยขึ้นอยู่กับระดับการตรวจเป็นสำคัญ หากการตรวจมากขึ้น (ปัจจุบันมีการตรวจแบบ ATK Test) ทำให้จำนวนผู้ป่วยมากขึ้น
- มาตรการส่งผู้ป่วยในกรุงเทพฯ กลับต่างจังหวัด จะช่วยลดแรงกดดันด้านสาธารณสุขในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลง แต่ก็ทำให้การระบาดในภูมิภาคมีมากขึ้น
- หากพิจารณาอัตราการขยายตัวรายสัปดาห์ของจำนวนผู้ป่วยใหม่ในโมเดลของกรมควบคุมโรคจะพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไปก่อนที่จะลดลง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เริ่มเห็นอัตราการขยายตัวเริ่มลดลงแล้ว
ด้วยสมมติฐานการระบาดในระดับดังกล่าว ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ ทำให้เรายังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 1% แต่เราก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงด้านลบที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับติดลบได้จาก 3 ปัจจัย คือ
- หากการระบาดในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเกิดการระบาดในพื้นที่ฐานการผลิตและภาคการท่องเที่ยว
- จำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะได้รับในไตรมาส 4 โดยเฉพาะวัคซีน Pfizer และ Moderna ล่าช้า
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน โดยเรามองว่าเม็ดเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ต้องมีอย่างน้อย 3 แสนล้านต่อการล็อกดาวน์ 1 เดือน (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท)
ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่จะยังคงกดดันภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไป นักลงทุนจึงควรเพิ่มความระมัดระวัง (Defensive) มากขึ้น ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น รวมถึงกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในหุ้นไทยเรายังคงคำแนะนำกลยุทธ์การลงทุนให้เน้นการลงทุนในกลุ่มหุ้นเชิงรับที่มีปัจจัยพื้นฐานเฉพาะตัวเป็นแรงขับเคลื่อนกำไร มี Valuation ที่สมเหตุสมผล และพึ่งพาแรงส่งทางเศรษฐกิจมหภาคน้อย
พายุฝนกำลังเคลื่อนตัวเข้ามา นักลงทุนโปรดเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน