วานนี้ (9 กรกฎาคม) เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ศุภชัย ใจสมุทร ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สาระสำคัญคือ ขอให้ออกมาตรการปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที และจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย เนื่องในวันครบรอบ 1 เดือนปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเนื้อหาระบุว่า
หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กำหนดให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ทำให้เกิดสถานการณ์ ‘กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ’ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ปรากฏเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเกิดผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างมาก ทั้งการบริโภคแบบรู้ตัว (เช่น สูบดอกกัญชา) และแบบไม่รู้ตัว (เช่น กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ไม่มีใครบอก) ซึ่งเกิดกับทั้งผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็กเล็ก ตลอดจนมีการขายกัญชาเพื่อนันทนาการ (ความบันเทิง) แพร่หลายไปหมด
สถานการณ์เช่นนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อประชาชนปลูกในครัวเรือนมากขึ้นในอนาคต หากสถานการณ์กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศนี้ยังต่อเนื่องไปนาน จะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนไทยในระยะยาว ประเทศไทยจึงไม่ควรตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศนาน ต้องมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม การออกแบบมาตรการเพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดมีรายละเอียดมาก ต้องการการออกแบบอย่างรอบคอบ เช่น กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดหรือไม่, ประเทศไทยต้องการนโยบายกัญชาทางการแพทย์ หรือกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ หรือกัญชาเพื่อนันทนาการ, จะให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนหรือไม่ จำนวนเท่าใด, จะควบคุมเยาวชนนำช่อดอกกัญชาไปสูบได้อย่างไร, จะควบคุมการทำธุรกิจกัญชาแค่ไหน เพียงใด, จะควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหรือไม่ เพียงใด, จะปกป้องเยาวชนอย่างไร, จะปกป้องผู้ไม่เสพใช้กัญชาอย่างไร, จะควบคุมการขับขี่ยานพาหนะหลังการเสพกัญชาอย่างไร, จะมีมาตรการภาษีกัญชาหรือไม่ อย่างไร และจะใช้งบประมาณส่วนไหน อย่างไร เพื่อจัดระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการใช้กัญชา เพื่อจัดการณรงค์ป้องกันการใช้กัญชาหรือการใช้กัญชาในทางที่ผิด และเพื่อจัดให้มีระบบติดตามและประเมินผล เป็นต้น ซึ่งต้องปรึกษาผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ จะเร่งรัดไม่ได้
ด้วยว่าเหตุผลของการออกนโยบายดังกล่าวได้ถูกอ้างว่าต้องการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจจากกัญชา และไม่ต้องการให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ดังนั้นเมื่อเห็นว่าประชาชนจำนวนมากใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาแบบไม่รู้ตัวอย่างชัดเจน
จึงควรพิจารณาทบทวนนโยบายกัญชาเสรีดังกล่าว ซึ่งทำได้ง่ายมาก เนื่องจากการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยควรที่จะต้อง ‘ปิดสภาวะสุญญากาศทันที’ และ ‘จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป’
บนจุดยืนการสนับสนุนนโยบายกัญชาทางสายกลาง คือ การใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ในทางการแพทย์ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายกัญชาเสรี เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอเสนอให้รัฐบาล, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, กระทรวงสาธารณสุข, สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โปรดพิจารณา
- ปิดสภาวะสุญญากาศทันที โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ หรือประกาศให้กัญชา (ครอบคลุมดอก ยาง สารสกัด และทิงเจอร์ จากดอกและยางกัญชา) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน และประเทศไทยจะไม่ผิดฐานละเมิดอนุสัญญายาเสพติด ปี 1961 และ 1972 ที่ได้ลงนามสัตยาบันไว้อีกด้วย) หรือ ออกพระราชกำหนดกำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติด จนกว่าจะมีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ เป็นต้น
- ในขณะเดียวกันกับการปิดสภาวะสุญญากาศ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย อย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาออกกฎหมายกัญชาต่อไป
หากทำเช่นนี้จะทำให้สามารถปิดสภาวะสุญญากาศได้ทันที จะทำให้สถานการณ์นโยบายกัญชากลับไปยังก่อนปลดล็อก คือ กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ แต่ผลกระทบร้ายแรงจะบรรเทาลงทันที ทุกฝ่ายจะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง และจะทำให้มีเวลาเพียงพอที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทยร่วมกัน
อันจะทำให้ผลประโยชน์และผลเสียหายของทุกฝ่ายได้รับการคำนึงถึงอย่างครบถ้วน และจะทำให้ได้นโยบายกัญชาที่เกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันโทษได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยจะได้รับการปกป้อง จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดได้ริเริ่มแคมเปญ ‘ชะลอกัญชาเสรี ขอกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เด็กใช้กัญชาออกมาก่อน’ บนช่องทาง Change.org ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนับสนุนมากกว่า 5,000 คนที่เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ซึ่งถ้าหากประชาชนหรือหน่วยงานใดที่เห็นว่าประเด็นนี้สำคัญ สามารถลงชื่อเพื่อสนับสนุนให้ความเห็นชอบได้ที่ Change.org/delaycannabislaw
สำหรับรายชื่อเครือข่ายที่ร่วมลงชื่อได้แก่
- นพ.ชาตรี บานชื่น
อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- โสภณ สุภาพงษ์
กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์
- ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่
ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ
- ทิชา ณ นคร
ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
- ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada
- รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย
- ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์
ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์
ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย
ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย
- รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ
อายุรแพทย์ พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์
นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย
- ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย
ศาสตราจารย์สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน
ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ไพศาล ลิ้มสถิตย์
กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร
อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พงศธร จันทรัศมี
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
- ไฟซ้อน บุญรอด
ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด
- วัชรพงศ์ พุ่มชื่น
นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ
- วันชัย บุญประชา
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
- นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์
สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
- นพ.วิทยา จารุพูนผล
ข้าราชการบำนาญ โรงพยาบาลขอนเก่น
- ศ.คลินิก นพ.อภิชาติ ศิวยาธร
อดีตรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- นพ.วิโรจน์ เยาวพลกุล
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- นพ.วัฒนา สุพรหมจักร
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- พล.อ.นพ.ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- พล.อ.ท.นพ.วิศิษฏ์ ดุสิตนานนท์
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- นพ.เจริญ ปฏิภาณเทวา
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- พญ.ภาพิส เสงี่ยมพรพาณิชย์
ข้าราชการบำนาญ
- พญ.อรพินธ์ พจน์พริ้ง
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พล.อ.นพ.อิสสระชัย จุลโมกข์
ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ โรงพยาบาลบางโพ และอดีตผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- นพ.พงษ์สันติ์ ลี้สัมพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ โรงพยาบาลหัวเฉียว
- นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
- ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม
อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ และรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- นพ.อธิคม สงวนตระกูล
กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา