ผลการวิจัยล่าสุดชี้ โลกยังมีความเสี่ยงเกิดภาวะเรือนกระจก หากอุณหภูมิทั่วโลกเพิ่ม 2 องศาเซลเซียส ถึงแม้นานาชาติจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมายของข้อตกลงลดโลกร้อนก็ตาม
คณะนักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศโลกเตือนในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences ว่า อุณหภูมิของโลกกำลังเพิ่มไปถึงจุดเดือด ขณะที่ระดับน้ำทะเลก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ ‘Hothouse Earth’ ซึ่งเป็นขั้นเลวร้ายที่สุด หรือเปรียบได้กับการอยู่ในเตาอบ
ผลการศึกษาระบุว่า ถึงแม้ประเทศต่างๆ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด แต่เราก็ยังซวนเซอยู่บนหนทางที่หวนกลับไม่ได้อยู่ดี
ในแต่ละปี ผืนป่า ดิน และมหาสมุทรสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากถึงประมาณ 4,500 ล้านตัน แต่การที่โลกร้อนขึ้น อ่างดูดซับคาร์บอนเหล่านี้อาจกลายเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนเสียเอง และทำให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทวีความเลวร้ายอย่างมีนัยสำคัญ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า กองกำลังทางธรรมชาติบางส่วนที่คอยพิทักษ์มวลมนุษย์อาจถูกความร้อนแปรเปลี่ยนไปเป็นศัตรูของมนุษย์เสียเอง
ดังนั้นจึงไม่สำคัญว่าชั้นดินเยือกแข็งแถบขั้วโลกเหนือหรือผืนป่าแอมะซอนจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้หลายล้านตันหรือไม่ เพราะหากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนหน้ายุคอุตสาหกรรม ก็มีความเสี่ยงสูงที่พันธมิตรทางธรรมชาติเหล่านี้จะคายคาร์บอนออกมาในปริมาณมากกว่าที่พวกมันดูดซับเข้าไปในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลงที่นานาชาติเห็นพ้องร่วมกันในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และจำกัดเป้าหมายการเพิ่มของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียส จึงอาจไม่เพียงพอ และอาจต้องเพิ่มมาตรการใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้มากกว่าข้อตกลงปารีสที่ลงนามกันในปี 2016
อ้างอิง: