×

ประมวล ภาวะโลกรวน 2022 ปีแห่งการ ‘ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และลงมือทำ’ กับเป้าหมาย 1.5 องศาที่ยังไกลเกินเอื้อม

21.12.2022
  • LOADING...

ปี 2022 ถือเป็นหนึ่งในปีที่โลกเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรงและเกิดผลกระทบมากมาย ทั้งภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง พายุและคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย

 

หลายพื้นที่ โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกและเอเชีย เจอกับปีที่ร้อนที่สุดแบบทุบสถิติ ท่ามกลางการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่ยังคงเพิ่มขึ้น จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2022 ยังเป็นปีที่นานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญอย่าง จีน อินเดีย สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหภาพยุโรป (EU) มีความพยายามในการดำเนินการอย่าง ‘จริงจัง’ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อรับมือกับวิกฤตภาวะโลกรวน โดยเฉพาะการคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส (Paris Agreement)

 

สำหรับปี 2023 แนวโน้มของสถานการณ์ภาวะโลกรวนยังคงน่ากังวลอย่างยิ่ง โดยทั่วโลกต่างจับตามองความพยายามในการผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพอากาศอย่างยั่งยืน ก่อนที่โลกจะเดินหน้าไปถึงจุดที่ผลกระทบรุนแรงจนไม่อาจย้อนกลับ และทำให้ประชากรโลกกว่า 8 พันล้านคน ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยพิบัติและความยากลำบากอีกมากมาย

 

ปีแห่งการ ‘ลงมือทำ’

 

จากข้อมูลของ Climate Action Tracker กลุ่มวิจัยและติดตามการดำเนินการด้านสภาพอากาศและลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาล 39 ประเทศ และ EU ชี้ว่า โลกยังห่างไกลจากเส้นทางสู่เป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยเผชิญความล้มเหลวในการกำหนดเป้าหมายระดับชาติที่หนักแน่น และหลายเป้าหมายก็ยังคงไม่บรรลุผล

 

หนึ่งในชัยชนะที่สำคัญและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการรับมือวิกฤตสภาพอากาศ คือชัยชนะในการเลือกตั้งใหญ่ของบราซิลเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

โดยอดีตประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา สามารถโค่นประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนาโร และเตรียมกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในวันที่ 1 มกราคม 2023 จุดประกายความหวังสำคัญในการฟื้นฟูผืนป่าแอมะซอน ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล จนเรียกได้ว่าเป็น ‘ปอดของโลก’ และแก้ไขความผิดพลาดด้านนโยบายของโบลโซนาโร ที่เปิดทางทำเหมืองในป่าแอมะซอน ซึ่งในปี 2021 มีการตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอนเพิ่มขึ้นถึง 48%

 

ด้านมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการลงมือแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการผ่าน พ.ร.บ.ลดเงินเฟ้อฉบับใหม่ ที่ช่วยลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ด้วยการอุดหนุนงบประมาณสำหรับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และทำให้พลังงานสีเขียวกลายเป็นพลังงานเริ่มต้นที่ใช้ในภาคส่วนสำคัญหลักๆ อย่างไฟฟ้า การขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ที่ชัดเจนสำหรับผู้บริโภคคือการให้เครดิตภาษีประมาณ 7,500 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

ขณะที่สหราชอาณาจักรและ EU ซึ่งเผชิญความวุ่นวายจากสถานการณ์การเมืองทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงเผชิญผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และพลังงาน โดยเฉพาะจากกรณีการทำสงครามบุกยูเครนของรัสเซีย ส่งผลให้การขยายบทบาทเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น ‘ไม่เพียงพอ’

 

โดย EU ที่เผชิญผลกระทบด้านพลังงานจากการคว่ำบาตรรัสเซีย จำเป็นต้องหวนกลับมาลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีแผนสร้างความมั่นคงทางพลังงานในชื่อ REPowerEU ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน จากเดิมที่ 40% เป็น 45% ภายในปี 2030


ประชุม COP27 ได้อะไรเป็นรูปธรรม?

 

สำหรับเวทีสำคัญในการหารือแนวทางแก้ไขและรับมือวิกฤตภาวะโลกรวน คือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เป็นสมัยที่ 27 หรือเรียกสั้นๆ ว่า COP27 ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์ และภาคประชาสังคม

 

ผลจากการประชุมตลอด 2 สัปดาห์ ได้ข้อสรุปที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้

 

  1. การตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการฟื้นตัวและรับมือกับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ

 

  1. รัฐบาลนานาประเทศยืนยันคำมั่นสัญญาและเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

 

  1. มุ่งเน้นความรับผิดชอบในพันธสัญญาด้านสภาพอากาศของภาคส่วนธุรกิจและสถาบันต่างๆ สร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่รัฐ

 

  1. ขับเคลื่อนการสนับสนุนทางการเงินที่มากขึ้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

 

  1. ผลักดันการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแผนงานเพื่อส่งเสริมการดำเนินการของประเทศต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเพิ่มการสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

 

โดยข้อสรุปทั้งหมดที่ได้จะกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศในปี 2023 และปีต่อๆ ไปด้วย

 

ขณะที่ ไซมอน สตีลล์ เลขาธิการบริหารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ชี้ว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินการรับมือภาวะโลกรวนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น คือการที่ “ทุกคนและทุกที่ในโลกทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ในทุกๆ วัน เพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ”

 

โลกกำลังอยู่ใน ‘ภาวะฉุกเฉิน’

 

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ชี้ว่า โลกกำลังอยู่ใน ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ (Climate Emergency)’ จากความล้มเหลวของนานาชาติในการดำเนินนโยบายเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งมนุษยชาติจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นเกียร์ฉุกเฉิน เพื่อเร่งดำเนินการรับมือกับวิกฤตอันเร่งด่วนนี้

 

รายงานของ UNEP ประเมินนโยบายของนานาประเทศที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ว่าจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึงระดับ 2.4-2.6 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้

 

โดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่มากพอจะเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ และทำให้ระดับอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ทุกองศาของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนั้น หมายถึงค่าใช้จ่ายในการปรับตัวของมนุษย์และผลกระทบจากภัยพิบัติสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

สำหรับปีนี้ อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.15 องศาเซลเซียส และก่อให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจน เห็นได้จากความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของภัยพิบัติสภาพอากาศ ทั้งคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุฤดูหนาว เฮอริเคน และไฟป่า

 

เอเชีย-ยุโรป ร้อนทุบสถิติ

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Carbon Brief ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศ ชี้ว่า ปี 2022 เป็นปีที่โลกมีระดับอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2022) แม้จะมีปรากฏการณ์ลานีญาอย่างต่อเนื่องในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งมีอิทธิพลทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง

 

ในหลายส่วนของโลกเผชิญกับระดับอุณหภูมิที่ร้อนเป็นพิเศษ โดยพื้นที่เกือบทั้งหมดของยุโรปตะวันตกและพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมจนถึงตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ามีระดับอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้

 

ขณะที่อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เนปาล และคาบสมุทรแอนตาร์กติก ก็เผชิญสภาพอากาศร้อนเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยในปากีสถาน สภาพอากาศร้อนจัดนี้มาพร้อมกับภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 33 ล้านคน และทำลายบ้านเรือน 1.7 ล้านหลัง คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 1,400 คน

 

ความเข้มข้นก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์

 

ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกก็แตะระดับสูงสุด ทุบสถิติใหม่ในปี 2022 เช่นกัน โดยได้แรงหนุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดิน และการทำเกษตรกรรม

 

ก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) นั้นมีส่วนรับผิดชอบต่อระดับอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น

 

โดยคาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 50% ตามด้วยมีเทนราว 29% ไนตรัสออกไซด์ประมาณ 5% ส่วนที่เหลืออีก 16% มาจากก๊าซชนิดอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์, คาร์บอนดำ (Carbon Black: อนุภาคหรือผงเขม่าที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ต่างๆ) และฮาโลคาร์บอน

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ได้เพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ จนถึงระดับสูงสุดในรอบ 2-3 ล้านปี เป็นอย่างน้อย

 

ค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศช่วงปีที่ผ่านมา (ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2022) สูงสุดถึง 418 PPM (ส่วนในล้านส่วน) เพิ่มจากช่วงปี 1980 ที่ค่าความเข้มข้นอยู่ที่ 338 PPM

 

ขณะที่ก๊าซมีเทน ซึ่งสะสมในชั้นบรรยากาศเพียงระยะสั้น พบว่ามีค่าความเข้มข้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2014 เฉลี่ยปีละ 8 PPB (ส่วนในพันล้านส่วน) และปีนี้สูงสุดถึง 1,912 PPB ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ขอบเขตทะเลน้ำแข็งขั้วโลกลดลงจน ‘น่ากังวล’

 

การสังเกตการณ์ทะเลน้ำแข็งในแถบอาร์กติก (Arctic) หรือขั้วโลกเหนือ และแอนตาร์กติก (Antarctic) หรือขั้วโลกใต้ มีความแม่นยำสูง นับตั้งแต่มีดาวเทียมสำรวจขั้วโลกในช่วงปลายทศวรรษ 1970

 

จากการสำรวจพบว่า ขอบเขตทะเลน้ำแข็งในอาร์กติก ช่วงระยะเวลา 2 ใน 3 ของปี 2022 ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดของประวัติศาสตร์ช่วงระหว่างปี 1979-2010 โดยเกือบจะสร้างสถิติใหม่รายวันในช่วงต้นเดือนมีนาคมและกลางเดือนมิถุนายน

 

ส่วนทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกนั้นอยู่ที่ระดับต่ำสุดหรือใกล้เคียงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ใน 3 ของปี และในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม โดยช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จะเห็นว่าขอบเขตทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกนั้นลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา

 

อย่างไรก็ตาม การลดลงของระดับทะเลน้ำแข็งในแอนตาร์กติกยังไม่ชัดเจนว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแตกต่างกับขอบเขตของทะเลน้ำแข็งในอาร์กติกที่มีข้อมูลชัดเจนว่าลดลงเพราะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น

 

ซึ่งนอกจากขอบเขตของทะเลน้ำแข็งที่ลดลง สิ่งที่ต้องจับตามองคืออายุของแผ่นน้ำแข็งที่ยังคงอยู่ในทะเลน้ำแข็งเหล่านี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ส่วนใหญ่จะมีอายุน้อยและบางกว่าน้ำแข็งที่เคยปกคลุมพื้นที่

 

เส้นทางสู่เป้าหมาย 1.5 องศา ไกลเกินเอื้อม?

 

การคงอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นประเด็นที่ท้าทายและเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส ที่รัฐบาลนานาประเทศที่เข้าร่วมต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีความจำเป็นที่ต้องจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

 

สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกลงถึง 45% ภายในปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม COP27 หลายประเทศพยายามปฏิเสธเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส และแม้ว่าจะคัดค้านไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจคือ มติที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงระดับสูงสุดในปี 2025 ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้น กลับถูกปัดตกจากที่ประชุม

 

ทั้งนี้ รายงานของ UN Climate Change ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ความพยายามเหล่านี้ยังคงไม่เพียงพอที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้

 

ขณะที่ความมุ่งมั่นของรัฐบาลทั่วโลกที่มีอยู่ นอกจากจะไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายในปี 2030 ในทางกลับกันยังอาจส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 10.6% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2010

 

ข้อมูลที่น่ากังวลเหล่านี้ ประกอบกับเวลาที่เหลืออยู่อีกเพียง 7 ปี สำหรับหลักชัยแรกที่ยังดูไกลเกินเอื้อม ก่อให้เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

ทางออกเดียวที่มีตอนนี้ คือทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือและเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

โดยในอีก 7 เวทีประชุม COP ที่เหลือจากนี้ สิ่งสำคัญคือการมุ่ง ‘ลงมือทำ’ มากกว่า ‘พูด’ และไม่ปล่อยให้โอกาสในการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศกลายเป็นเพียงโอกาสในการ ‘ฟอกเขียว’ ของบรรดาผู้นำโลก แบบที่ เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กล่าวไว้ในการประกาศไม่เข้าร่วมประชุม COP27 ที่ผ่านมา

 

ภาพ: Photo by David McNew / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising