×

กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ใกล้แล้วเสร็จ ชูจุดเด่นเก็บค่าธรรมเนียมมลพิษเข้ากองทุน กำหนดบทลงโทษชัดเจนขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
24.01.2025
  • LOADING...

วันนี้ (24 มกราคม) จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่พิจารณามาครบรอบ 1 ปี โดยเปิดเผยว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี พิจารณาครบทุกมาตราแล้ว ซึ่งระหว่างการพิจารณา เพื่อให้มีความครบถ้วน เราเชิญทั้งเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาให้ความเห็น 

 

“การพิจารณาอยู่ที่ 85% แล้ว โดยมีประเด็นที่ต้องโหวตลงมติในส่วนของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ว่าจะต้องไปเป็นกองทุนหรือไม่ จัดการอย่างไร ใครจะเป็นเจ้าภาพ และในเรื่องของกรรมการจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นกรณีใด ซึ่งยังมีความเห็นต่างกันอยู่” จักรพลกล่าว

 

สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. จากข้อห่วงใยของฝ่ายบริหารโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทำงานควบคู่กันไปทุกกระทรวง การพิจารณาของกรรมาธิการก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ พร้อมยืนยันว่าทุกความเห็นถึงหูรัฐบาลแน่นอน และหากไม่สะดุดอะไร ผนวกกับสถานการณ์ที่วิกฤตจริงๆ ก็หวังว่าร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะเป็นวาระเร่งด่วนเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ 3 ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

คาดร่าง พ.ร.บ. เข้าที่ประชุมสภาภายในกุมภาพันธ์นี้

 

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส. เชียงใหม่ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาเหตุที่ใช้เวลาพิจารณากฎหมายนี้ยาวนานถึง 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2567 เพราะมีการยกร่างขึ้นใหม่ โดยหยิบยกเนื้อหาจาก 7 ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

สำหรับจุดเด่นของร่างกฎหมายนี้จะมีการกำหนดเรื่องกองทุนอากาศสะอาด กำหนดให้ผู้ที่ก่อมลพิษจะต้องจ่ายค่าปรับและค่าธรรมเนียมเข้าสู่กองทุน นำไปแก้ไขปัญหาอากาศสะอาด และใช้ในกรณีที่งบรายจ่ายประจำปีหรืองบกลางไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที 

 

ส่วนปัญหาฝุ่นข้ามแดนนั้น แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นคู่มือการทำงานให้รัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการจัดการสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษจากประเทศอื่น ซึ่งนำเข้ามาโดยผู้ประกอบการชาวไทย รวมถึงบทลงโทษจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ภัทรพงษ์เน้นย้ำถึงรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปัจจุบันว่า สามารถหยิบยกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมาดำเนินการแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องรอร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising