ถือเป็นอีกหนึ่งนิมิตหมายอันดีที่บ่งบอกว่าแวดวงความงามได้เวลาเดินหน้าไปอีกขั้น หลังจากช่วงที่ผ่านมาเจอวิกฤตมากมายที่ส่งผลให้การเปิดโปรเจกต์ใหญ่ๆ ต้องชะลอตัวไปตามๆ กัน แต่ล่าสุดแบรนด์ Clarins นำหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัวห้องแล็บแห่งแรกในต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านจิ้งอัน นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน บนพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร แล็บแห่งแรกในต่างประเทศนี้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประตูสู่ปารีส’ ที่มีการเปิดตัวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งแขกที่ร่วมงานเปิดตัวนั้นมีทั้งฝั่งฝรั่งเศสและจีนที่พากันมาร่วมฉลองหลักไมล์แห่งใหม่ของแบรนด์ Clarins ไปพร้อมๆ กัน โดยมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัยอยู่ 3 ประการหลัก ได้แก่ การคิดค้นทดลองสูตร การคิดค้นทดลองเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ และการคิดค้นทดลองทางคลินิก
ก่อนหน้านี้ Clarins ใช้เวลากว่า 60 ปีในการศึกษาวิชาพืชศาสตร์และยังรับฟังความต้องการของผู้หญิงทั่วโลกมาโดยตลอด ทำให้การจัดตั้งห้องแล็บใหม่ในครั้งนี้เป็นเครื่องมือชั้นดีในการสื่อให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของแบรนด์ว่ามุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการให้ความสำคัญในการรับฟังความต้องการของผู้หญิงชาวจีนอย่างเท่าเทียมกัน
การที่ Clarins ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการการเปิดห้องแล็บในจีนจึงเท่ากับเป็นการเปิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาให้เข้าใจถึงสภาพผิวของสาวเอเชียมากขึ้น พร้อมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดกว่าเดิม
นอกจากนี้ Clarins ยังเปิดเผยว่าวางแผนจะเรียนรู้และนำเอาศาสตร์จากตำรับสมุนไพรและภูมิปัญญาของแพทย์แผนจีนมาปรับใช้ด้วยความเข้าใจ ไม่แน่ว่าอาจเปิดเป็นแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับตลาดเอเชีย อันจะกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ไปสู่ท้องตลาดในดินแดนที่แตกต่างอีกด้วย
ในแง่ของการคิดค้นทดลองสูตร ห้องแล็บ Clarins ประเทศจีนจะใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทางชีววิทยาเพื่อเฟ้นหาส่วนผสมที่เป็นประโยชน์และทรงประสิทธิภาพ ส่วนในแง่ของการทดลองผลิตภัณฑ์ทางคลินิก ห้องแล็บ Clarins ประเทศจีนได้นำเสนอเทคโนโลยีอันทันสมัยและเครื่องไม้เครื่องมือจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงเครื่องมือที่เรียกว่า Color Face, Life Viz Mini, Pericam, Cutometer และเครื่องมือเฉพาะทางสำหรับการวัดโครงสร้างผิว รวมถึงเครื่องมือที่ทำการทดสอบสภาพผิวของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ พร้อมชี้แจงผลการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน่าเชื่อถือและมีผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาตร์รองรับถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อความมุ่งมั่นสู่การพัฒนาประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์