×

ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แต่สิทธิมากมายยังไม่เท่าเทียมจดทะเบียนสมรส

25.12.2018
  • LOADING...

วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ…. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัวปกติ แต่ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิและหน้าที่รับรองในการเป็นคู่ชีวิต เพราะกฎหมายรับรองการจดทะเบียนสมรสของชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและการดำเนินชีวิตของสังคมปัจจุบัน และเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐบาลจึงได้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เพื่อการสร้างครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการผลักดันกฎหมายในลักษณะนี้

 

นายณัฐพรกล่าวว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ…. คือนิยามคำว่า ‘คู่ชีวิต’ หมายถึงบุคคลสองคนที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ คือไม่ใช่ระหว่างชายและหญิง โดยจะสามารถจดทะเบียนสมรสได้เมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมีสัญชาติไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องแสดงคำร้องและความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต ด้วยความตาย หรือการสมัครใจเลิกกัน หรือว่าศาลพิพากษาให้เพิกถอนการเป็นคู่ชีวิต และยังมีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต โดยให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอนุโลมใช้

 

นายณัฐพรกล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มีความแตกต่างกับจดทะเบียนสมรสของชายหญิงทั่วไป อาทิ สวัสดิการของภาครัฐที่ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา เนื่องจากตอนนี้ได้เร่งพิจารณาในส่วนของสาระสำคัญก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่ได้รับสิทธิ เพราะหากรอให้กฎหมายสมบูรณ์ อาจจะล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนคำนำหน้านาม การเปลี่ยนชื่อ-สกุล สิทธิลดหย่อนทางภาษีในแง่สามีภรรยาและการรับบุตรบุญธรรม เนื่องจากมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว

 

ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 120 วัน ส่วนจะทัน สนช. ชุดนี้พิจารณาหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะในที่ประชุม ครม. วันนี้มีการพิจารณากฎหมาย 50 กว่าฉบับ ที่จะส่งให้ สนช. พิจารณาตามลำดับความเหมาะสม

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X