แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า นายหน้าซื้อ-ขายหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของจีนได้สั่งระงับการทำ Short Selling สำหรับลูกค้าบางรายในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่ราคาหุ้นตกต่ำมาเป็นเวลายาวนาน
CITIC Securities ที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ได้ยุติการให้ยืมหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อย และเพิ่มข้อกำหนดในการทำ Short Selling สำหรับนักลงทุนสถาบัน หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้ออก Window Guidance เมื่อต้นสัปดาห์นี้
หุ้นจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวหลังจากปี 2023 ที่เลวร้าย และดัชนี Shanghai Composite Index กำลังเริ่มต้นปีได้แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลชัดเจนที่ระบุว่า มีบริษัทนายหน้าจำนวนมากที่กำลังจำกัดการขายชอร์ต ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณถึงความกระตือรือร้นของทางการที่จะวางรากฐานในตลาดใหม่ หลังจากความพยายามก่อนหน้านี้ รวมถึงการซื้อหุ้นธนาคารโดยรัฐล้มเหลวในการยกระดับความเชื่อมั่นของตลาด
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสัญญาณเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของทางการจีนจากปริมาณซื้อ-ขายกองทุน ETF หลักบางตัวพุ่งสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า เป็นฝีมือการซื้อจากสถาบันของรัฐ
ในอดีตทางการจีนเคยมีประวัติในการจำกัดการขายชอร์ตในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้ราคาหุ้นร่วงลง ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลได้ยกระดับกฎการขายชอร์ตขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไป เช่น ในปี 2015 ตลาดหุ้นจีนที่มีความผันผวนอย่างรุนแรง ทางการจีนจึงจำกัดการขายชอร์ตเพื่อบังคับให้นักลงทุนเดย์เทรดลดการซื้อ-ขายลง แต่ตลาดกลับปรับตัวลงในช่วงหลายเดือนต่อมา
การเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคมและคำสั่งให้โบรกเกอร์จำกัดขนาดของการกู้ยืมหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ยังคงไม่สามารถยุติการถดถอยของตลาดได้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 มกราคม) มูลค่าหุ้นที่ขายชอร์ตลดลง 61% จากจุดสูงสุดเมื่อปี 2021 เหลือ 6.7 หมื่นล้านหยวน (9.3 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020
ดัชนี Shanghai Composite Index ในวันพฤหัสบดี (18 สิงหาคม) ลดลงต่ำกว่า 2,800 จุด สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 สวนทางกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่นักลงทุนจีนเข้าซื้อ ETF อย่างบ้าคลั่ง ช่องว่างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นลดลงเหลือน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020
อ้างอิง: