×

CIMBT ชี้ไตรมาส 2/64 เศรษฐกิจไทยถดถอย หั่น GDP ปี 2564 เหลือ 2.2% จับตาการกระจายวัคซีน

29.04.2021
  • LOADING...
CIMBT-ชี้ไตรมาส-2_64

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ทางสำนักวิจัยปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 หรือ GDP ว่าจะลดลงเหลือ 2.2% โดยลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่อยู่ราว 2.6%

 

สาเหตุการปรับลดดังกล่าวส่วนหนึ่งเพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 และมีการใช้มาตรการดูแลควบคุมสถานการณ์ที่เข้มงวดขึ้นเป็นรอบ 2 ซึ่งจะฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง

 

“โควิด-19 ระลอก 3 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมาก ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการค่อนข้างเข้มงวดในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันคล้ายการล็อกดาวน์รอบแรก สิ่งที่คล้ายกับรอบแรกคือ การบริโภคภาคเอกชนลดลงค่อนข้างแรง คนออกจากบ้านน้อยลง ร้านค้าเปิดทำการด้วยจำนวนชั่วโมงที่ลดลง กระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือเศรษฐกิจหดตัวไตรมาสเทียบไตรมาส ติดต่อกันสองไตรมาส” 

 

ทั้งนี้แม้ว่าไตรมาส 2/64 เศรษฐกิจไทยจะถดถอยเชิงเทคนิค แต่ยังไม่รุนแรงเท่าปี 2563 ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยที่จะปรับตัวดีขึ้น (ปี 2564 โต 10%) จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในโลกปรับตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ​ จีน ฯลฯ โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี ยาง และกลุ่มอาหาร ซึ่งจะช่วยให้การจ้างงานส่วนที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวด้วย

 

ปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวได้และลดความเสี่ยงขาลง ได้แก่ 

 

  1. การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส โดยอาจต้องมาพร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปิดขึ้นมาได้อีกครั้ง
  2. การกระจายฉีดวัคซีนทั่วถึงทั้งประเทศ เพราะหากไม่มีวัคซีนอาจมีความเสี่ยงการระบาดรอบ 4 รอบ 5 ฯลฯ ไปเรื่อยๆ และทำให้รัฐต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

 

ทั้งนี้หากเร่งฉีดวัคซีนในไตรมาส 3/64 ควบคุมการระบาดได้ดีขึ้น ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมน่าจะฟื้นตัว ไตรมาส 3 หรือที่เรียกว่า Pent Up Demand ที่คนอั้นการใช้จ่ายในไตรมาส 2 และเริ่มมาใช้จ่ายหลังเศรษฐกิจเปิดเต็มที่ ซึ่งแม้ไม่สามารถชดเชยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ได้ แต่เศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น และยังช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า GDP ปี 2564 มาอยู่ที่ 2.2% ที่ไม่ปรับลดลงมาก เพราะยังมีแรงผลักดันจากการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ใกล้ 10% และช่วยให้เกิดการลงทุนในประเทศที่ยังโตต่อเนื่องได้ แต่เศรษฐกิจไทยเมื่อขาดการท่องเที่ยวจากต่างชาติย่อมทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า

 

ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยไตรมาส 2/64 เงินบาทน่าจะอยู่ที่ราว 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะเงินไหลออกสืบเนื่องจากความกังวลเรื่องการถอนมาตรการ QE และกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าความต้องการเงินบาทจะเพิ่มขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวสู่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายปี 2564 

 

ส่วนนโยบายการเงินคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี โดยคาดว่าอัดฉีดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs หรือออกมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ หากไทยไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ และฉีดวัคซีนล่าช้าจนจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น จนภาครัฐออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกรอบหนึ่ง เศรษฐกิจไทยอาจจะโตต่ำเหลือ 0.7% ธปท. อาจฉีดวัคซีนประคองเศรษฐกิจไทย โดยลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.25% 

 

“นโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่จะออกมามีลักษณะของการประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนัก เป็นการซื้อเวลามากกว่าที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ ทางออกอยู่ที่การฉีดวัคซีนให้ฉีดประชากรไทยได้อย่างทั่วถึง”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising