ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมกับ ทรูมันนี่ เปิดให้ซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรอง (Secondary Bond) ผ่านแอปทรูมันนี่ พร้อมหวังลดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำจาก 1 แสนบาทในปัจจุบัน มาเหลือหลักพันบาทในปีหน้า
ภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงินและที่ปรึกษา Equity Derivatives และผู้บริหารการขายลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อ-ขายอยู่ที่ 5,921,913 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะมีลูกค้าบุคคลเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดรองเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับ 37,089 ล้านบาทในปัจจุบัน แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อ-ขายทั้งตลาด
การร่วมมือกับทรูมันนี่ในครั้งนี้จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้ได้มากขึ้น และมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 บาท ในอนาคตจะลดลงไปเหลือหลักหมื่นบาทหรือพันบาท
“เรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นกู้ในตลาดรองขั้นต่ำลดลงไปเหลือหลักหมื่นบาทหรือพันบาท ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า”
ทั้งนี้ หลังจากเปิดบริการซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองผ่านทรูมันนี่มา 2-3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายเกือบ 100 ล้านบาท โดยธนาคารคาดหวังว่ามูลค่าธุรกรรมในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ของลูกค้าบุคคล เพิ่มขึ้นจาก 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2561 มาเป็นกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ อย่างไรก็ตาม จำนวนของลูกค้าบุคคลที่ถือตราสารหนี้ยังมีเพียง 2.13 แสนคน เทียบกับตลาดหุ้นที่มีผู้มีบัญชี 2.87 ล้านคน
ด้าน ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ‘หุ้นกู้ตลาดแรก’ หรือที่เรียกว่า ‘หุ้นกู้มือหนึ่ง’ มีจำนวนไม่มาก และมีขั้นตอนในการติดต่อขอจองซื้อที่ยุ่งยาก ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้
ทรูมันนี่ จึงร่วมกับ ธ.ซีไอเอ็มบี ไทยทำให้การลงทุนในหุ้นกู้เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีของเรา พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้นกู้ตลาดรองได้เข้ามาศึกษาและเลือกลงทุน เพราะเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยหุ้นกู้ตลาดรองสามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 5% ต่อปี
พร้อมกันนี้ ธัญญพงศ์เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งบริษัทจะนำประสบการณ์จากการทำ Ascend Money ซึ่งให้บริการสินเชื่อผ่าน Pay Next โดยลูกค้าราว 70% เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้ไม่เต็มที่ (Underserved) ในบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม
สำหรับ Pay Next ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท และสามารถควบคุมหนี้เสียได้ค่อนข้างดี ปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้เสียราว 7.5% ก่อนการตัดจำหน่าย (Write Off)
“ที่ผ่านมาเราทำธุรกิจกับกลุ่ม Underserved มาตลอด และใช้ Alternative Credit Scoring มาพิจารณาการปล่อยสินเชื่อแทนรูปแบบการพิจารณาแบบดั้งเดิม เช่น พฤติกรรมการใช้ TrueMoney Wallet”