สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 3.8% เหลือ 3.1% ตามปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าตั้งแต่ต้นปี ทั้งจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่แพง ตามมาด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำไปสู่ปัญหาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความกังวลต่อการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมทั้งฟากเอเชียเผชิญความเสี่ยงของการออกมาตรการควบคุมกฎระเบียบต่อบริษัทจีนและการกลับมาออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิดอีกครั้งในประเทศจีน โดยรวมปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รวมทั้งการลดงบดุลเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่จะยิ่งทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอต่อเนื่องได้ในปีนี้
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า แม้โลกจะเต็มไปด้วยความผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยต้นปีนี้การส่งออกยังคงขยายตัวโดดเด่น แม้มีปัญหาค่าระวางเรือสูง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่กระทบภาคการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ แต่เศรษฐกิจประเทศสำคัญยังมีความต้องการสินค้าที่สูง แม้อาจไม่ได้เร่งแรงเหมือนปีก่อนตามปัญหาเงินเฟ้อในแต่ละประเทศที่กดดันการบริโภคและการลงทุน แต่เศรษฐกิจในหลายประเทศยังเติบโตได้สูงกว่าศักยภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกไทยในปีนี้
ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนของไทยช่วงไตรมาสแรกยังน่าจะประคองตัวได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกำลังซื้อระดับกลางถึงบนที่มีความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางการเงิน ตลอดจนมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการบริโภคผ่านการลดหย่อนภาษีน่าจะช่วยให้การใช้จ่ายไม่ได้ชะลอแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูง อีกทั้งรัฐได้มีมาตรการประคองกำลังซื้อผ่านมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่มได้บ้าง
ส่วนการท่องเที่ยวยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนักในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้ทำให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการรับชาวต่างชาติเข้าประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นนักเดินทางที่ลดลงจากปัญหารัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะเมื่อค่าเงินของรัสเซียอ่อนค่าลงแรงก็กระทบความสามารถในการใช้จ่ายของคนรัสเซียและมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
ทั้งนี้ หากมองต่อไปในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรก โดยคาดว่า GDP ไทยในช่วงไตรมาส 2 จะขยายตัว 2.3% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน จากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น รายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น
ในส่วนของค่าเงินบาท อมรเทพประเมินว่า มีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 2 จากความกังวลในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูง ซึ่งมีผลให้ไทยขาดดุลการค้า ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ค่าขนส่งสินค้าแพงขึ้น อีกทั้งจะมีเงินโอนจ่ายเงินปันผลไปต่างประเทศช่วงไตรมาส 2 ที่มาก ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีบริการและรายได้
ประกอบกับในช่วงไตรมาส 2 นี้ ทาง Fed น่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยิ่งจะส่งผลให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยที่ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะกว้างขึ้นเร็ว
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลัง และแตะระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงปลายปีจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นในตลาดทุนโลกหลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และตลาดทุนรับรู้ข่าวนี้ไปในช่วงไตรมาส 2 แล้ว
ขณะที่ไทยจะเริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่มากขึ้น ราคาน้ำมันเริ่มปรับย่อลงหลังมีการเพิ่มกำลังการผลิตจากฝั่ง OPEC ที่มากพอจะทันอุปสงค์น้ำมันที่ปรับขึ้นก่อนหน้า และจากการคาดการณ์ว่าแบงก์ชาติจะเริ่มขยับดอกเบี้ยขึ้นได้หลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งน่าจะดึงดูดนักลงทุนให้กลับเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าได้ต่อเนื่องในปีหน้า
ด้านอัตราดอกเบี้ยประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำจากการขาดรายได้การท่องเที่ยว อีกทั้งเงินเฟ้อที่เร่งแรงในช่วงไตรมาส 2 มาจากปัญหาด้านอุปทานคือราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่เงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ยังอ่อนแอดังเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานยังต่ำ
แต่มีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะเผชิญแรงกดดันหนักต่อการขยับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะเมื่ออัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายลากยาว โดยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยืนอยู่ที่ทางแยกว่าจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและลดแรงกดดันต่อเงินบาทที่อ่อนค่า
โดยสำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 อาจเฉียดระดับ 5% และทั้งปีอยู่ที่ 4.5% จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนต์ที่จะถึงจุดสูงสุดที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 2 ก่อนปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง และเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP