ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ รวมถึงจากนโยบายภาษีทรัมป์ นอกจากนี้ ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Potential Growth) ก็มีความเสี่ยงลดต่ำลงด้วย
วันนี้ (10 เมษายน) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ในไตรมาส 3 และ 4 อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยดังกล่าวยังมีไม่สูงในฉากทัศน์ฐานพื้นฐาน (Base Case Scenario)
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยล่าสุดของซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า GDP ปี 2568 จะขยายตัว 1.8% ในปี ในฉากทัศน์ฐานพื้นฐาน (Base Case Scenario) ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่คาดว่า สหรัฐฯ จะเก็บภาษีประเทศส่วนใหญ่ (Universal Tarrif) รวมถึงไทยในอัตรา 10% เท่านั้น
โดยประมาณการล่าสุดนับว่า ลดลงจากประมาณการก่อนหน้านี้ที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึง 2.7% โดยดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ปรับประมาณการลง เนื่องจากก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวและการประกาศ (Reciprocal Tariff) ของทรัมป์ เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงหลายปัจจัย ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว ตัวอย่างเช่น จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ก็สะท้อนว่า กำลังซื้อของคนไทยอ่อนแอลง มาตรการแจกเงินดูไม่ได้มีประสิทธิภาพพอจะขับเคลื่อนได้ ความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และนักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าที่ขาด เป็นต้น
แต่ในฉากทัศน์ที่หากทรัมป์เริ่มเก็บภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เศรษฐกิจไทยอาจโตแค่ 1.4% แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแม้เพียงเล็กน้อย และเกิดความผันผวนทั่วโลก (Global shocks) เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงหนักกว่าคาด จากการส่งออกที่แย่ลงและความผันผวนทั่วโลก โดยใน Worst Case Scenario ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะโต 0.5%
เปิดข้อแนะนำสำหรับรัฐบาล
ดร.อมรเทพยังระบุว่า อันดับแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ การเจรจา พร้อมระบุว่า “ตอนนี้เรามีไทม์ไลน์อยู่แล้ว 90 วัน ดังนั้น จึงต้องคิดว่า เราจะเจรจาอย่างไรเพื่อลดปัญหาการขาดดุลของสหรัฐฯ ให้ได้ โดยอาจเพิ่มการลดกฎระเบียบหรือ Non Tariff Barrier เข้าไปด้วย”
อันดับต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ก็ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ รัฐบาลจึงควรหามาตรการมาช่วยดูแลเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่การแจกเงินเท่านั้น แต่ควรช่วยเพิ่มการสร้างงานสร้างอาชีพ และเพิ่มการกระจายรายได้ให้มากขึ้น
“คุณภาพของเม็ดเงินที่ใส่ลงไปที่ผ่านมาเราเห็นว่า ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ไม่ได้ทำให้เกิดความเชื่อมั่น หรือการลงทุนในระยะยาว เหมือนกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการสร้างงานสร้างอาชีพ ที่เป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว”
อันดับต่อไปคือ การสร้างความเชื่อมั่น เนื่องจากปัจจุบัน ยังมีหลายกลุ่มที่ยังมีศักยภาพและมีเงินอยู่ แต่ขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้คนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว มาลงทุนและใช้จ่ายมากขึ้น
“ท่ามกลางปัญหาในตลาดทุนและในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ผมเชื่อว่า มีหลายมาตรการที่ต้องดำเนินการพร้อมกัน ท่ามกลางความเชื่อว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้ากว่าที่คาดและโตช้าต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาว จึงอาจทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความน่าสนใจต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไปได้” ดร.อมรเทพกล่าว
ห่วง Potential Growth ไทยลดลงอีก
ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว (Potential Growth) ซึ่งต่ำอยู่แล้วอยู่ที่ราว 2.5%-3% จะลดลงต่ำลงไปอีก ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังเจอกับปัญหาสังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน และขาดเทคโนโลยี ท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องการค้าโลก (Global Trade) ซึ่งหากไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้ ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพ (Productivity) และการจ้างงานในประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติระยะสั้น จึงอาจจะมีผลต่อศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว (Potential Growth) นิดหน่อยเท่านั้น
“สิ่งสำคัญคือ การปรับตัว หาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มทักษะแรงงาน เน้นการลงทุนระยะยาว ลดกฎระเบียบต่างๆ” ดร.อมรเทพกล่าว
ก่อนหน้านี้ มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ปี 2008 ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 และวิกฤตการระบาดของโควิด อัตราการเติบโตของไทย หรือ Potential Growth จะค่อยๆ ชะลอลง