วันนี้ (4 มีนาคม) ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) กลุ่มสภาประชาชนภาคใต้ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ และเครือข่ายรักษ์ระนอง ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านโครงการเมกะโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’
ทั้งนี้ ทางกลุ่มฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้นประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่สองแห่ง (ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ที่จะต้องเชื่อมต่อกับสองท่าเรือที่มีระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร การนิคมอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี การสัมปทานแหล่งหินแหล่งทรายเพื่อถมทะเล การก่อสร้างเขื่อนเพื่อจัดหาน้ำ การก่อสร้างโรงไฟฟ้ารองรับการใช้พลังงานเป็นต้น
โดยทั้งหมดนี้จะต้องแลกด้วยที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ป่าไม้ สายน้ำ ทะเลชายฝั่งหลายหมื่นไร่ตลอดเส้นทางโครงการ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตพื้นถิ่น ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้โครงการนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนครั้งใหญ่ของประเทศไทยได้
“พวกเรารู้ดีว่าการพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น แต่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจใดก็แล้วแต่จะต้องไม่เบียดขับประชาชนในพื้นที่ให้ตกขอบสังคม โดยรัฐบาลและภาคธุรกิจของทุกประเทศจะต้องเคารพภายใต้ข้อตกลงหรือปฏิญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งอารยประเทศจำนวนมากได้ยอมรับในเรื่องนี้” ถ้อยคำในหนังสือเปิดผนึกระบุ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาทางกลุ่มฯ ได้ยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงาน เช่น สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ และปิดท้ายที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้รัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติใคร่ครวญอย่างรอบคอบถึงการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (5 มีนาคม) ทางกลุ่มฯ จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล และในวันพุธที่ 6 มีนาคม จะเดินทางไปอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ต่อไป