วันนี้ (24 กันยายน) กลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดป้ายกระดาษที่ระบุข้อความว่า ‘เสรีภาพทางวิชาการ = Fake News ผลิตโดยจุฬาฯ’ ที่ป้ายคณะรัฐศาสตร์ ตามด้วยอาคารคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำคณะได้มาดำเนินการนำป้ายกระดาษที่ถูกติดไว้ออกไป
ตัวแทนนิสิตที่ทำกิจกรรมระบุว่า จุดประสงค์สืบเนื่องจากกรณีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย ของ รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ. ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองศาสตราจารย์ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS), ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ รศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทั้งหมดย้ายการจัดกิจกรรมไปที่ Event Space ชั้น 2, หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 กันยายนนี้ เวลา 15.30-17.30 น.
กลุ่มผู้จัดกิจกรรมมองว่า มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดงานเสวนาได้ แต่จากเหตุการณ์ที่ปรากฏสะท้อนว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก พร้อมกันนี้ยังรู้สึกไม่สบายใจกับอิทธิพลของทหารที่มีต่อผู้บริหารของจุฬาฯ ที่มาแทรกแซงการตัดสินใจของคณะรัฐศาสตร์ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว
ขณะที่ก่อนหน้านี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอความร่วมมือในการระงับการจำหน่ายหนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย เพราะมีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อนและกระทบภาพลักษณ์ของหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว และหนังสือเล่มนี้ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ติดลิสต์หนังสือแห่งปี 2022 ของ Foreign Affairs ขณะที่ผู้เขียนคือ รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ก็เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย
ผู้เขียนได้เขียนคำนำของหนังสือเล่มนี้ไว้โดยระบุว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพ เกิดขึ้นไม่นานหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กว่าจะเริ่มต่อจิ๊กซอว์ของเหตุการณ์ต่างๆ ได้และตัดสินใจทำวิจัยเรื่องนี้ก็เข้าสู่ปี 2560 ผู้เขียนเริ่มเสนอข้อค้นพบบางส่วนต่อสาธารณะผ่านเวทีวิชาการ บทความ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งตั้งแต่ปลายปี 2560 เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นถึงความพยายามขยายอำนาจของกองทัพ เพื่อแทรกซึมและควบคุมสังคมด้วยกลวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย เกิดจากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองอันไม่ปกติที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการรัฐประหารโดย คสช. เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความพยายามแทรกซึม-ควบคุมสังคมและการเมืองผ่านกลไกต่างๆ ของกองทัพและระบบราชการ