×

“จะให้สภาเป็นที่ยอมรับของประชาชนให้ได้” เปิดใจ ชวน หลีกภัย ที่สัปปายะสภาสถานครั้งแรก

24.07.2019
  • LOADING...
ชวน หลีกภัย

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เปิดตัวตนและภูมิหลังของการตัดสินใจเดินบนถนนสายนักการเมือง ดอกไม้และก้อนอิฐที่นักการเมืองชื่อ ชวน หลีกภัย ต้องฟันฝ่า เพราะชีวิตและงานคือการเมือง
  • มุมมองต่อนักการเมืองปัจจุบันและความเห็นต่อโอกาสการกลับมาอีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ หลังศึกเลือกตั้งต้องเผชิญสิ่งที่เรียกว่า ‘กระแสวูบหนึ่ง สึนามิพัดแรง’
  • ทำไมวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ต้องติดตามการแถลงนโยบาย หนึ่งในเหตุผลที่ ชวน หลีกภัย บอกก็คือฝ่ายค้านจะได้ใช้สิทธิอภิปรายความเป็นไปได้ของนโยบายรัฐบาลและความเหมาะสมของบุคคลที่ทำนโยบายว่าจะสำเร็จหรือไม่อย่างไร

ชีวิตนักการเมืองคนหนึ่งนับตั้งแต่ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร จนได้รับโอกาสครั้งแรกจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ในสังเวียนสภาหินอ่อนในฐานะฝ่ายค้าน 

 

กระทั่งทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมือง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน คือประวัติพอสังเขปของบุรุษที่ชื่อ ชวน หลีกภัย ในวัย 80 ปี

 

วัยวุฒิที่มากขึ้นกับภาระงานแผ่นดินที่ต้องถือว่าหนักหนาสาหัส ยิ่งในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องทำงานกับความหลากหลายของผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ บวกกับการประชุมที่ต้องหามรุ่งหามค่ำ ไม่ใช่อุปสรรคของคนชื่อชวนแต่อย่างใด

 

ที่ผ่านมาเราอาจจะรู้จัก ชวน หลีกภัย ในหลากมุมหลายมิติ ตามแต่ประสบการณ์และสิ่งที่ได้รับรู้มา 

 

แต่ทว่านี่คือครั้งแรกที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดใจกับ THE STANDARD หลังเลือกตั้ง หลังขึ้นทำหน้าที่บนบัลลังก์ และเป็นหนแรกที่ให้สื่อได้สัมผัสห้องทำงานประธานรัฐสภา ณ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของไทย

 

ชวน หลีกภัย

 

ชีวิตการทำงานและตัวตนของคนที่ชื่อ ชวน หลีกภัย ในทัศนะของ ชวน หลีกภัย เป็นอย่างไร 

ชวน หลีกภัย ก็คือคนที่มีความสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ได้ยินคุณพ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูพูดคุยกับเพื่อนที่บ้าน ไม่ว่าเรื่องของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือท่านปรีดี พนมยงค์ ประกอบกับการได้มาอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอเรียนจบก็ตัดสินใจไม่สอบเป็นผู้พิพากษา แต่มาเล่นการเมือง เพราะชอบการเมืองมาก

 

ตอนที่ยังเรียนอยู่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปฟังการประชุมสภา นั่งฟังคุณหลวง คุณพระอภิปราย เช่น หลวงประกอบนิติสาร ที่อภิปรายได้เก่งจนรู้สึกผูกพันกับเรื่องการเมือง 

 

แต่การเป็นนักการเมืองไม่ง่าย เพราะในเวลานั้นยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ผมต้องรอจนรัฐธรรมนูญออกในปี 2511 แล้วจึงตัดสินใจกลับมาบ้านเพื่อสมัครเป็นผู้แทนราษฎร โดยยื่นสมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในคราวนั้นพรรคไม่รับลงสมัคร เพราะยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ด้วยคนที่พอจะเป็นที่รู้จักจะลงสมัครก็ไม่มีเงินค่าสมัครจนต้องถอนตัว เป็นผลให้พรรครับผมในท้ายที่สุด แต่ก็ไม่วายโดนย้ำว่าลงก็ใช่ว่าจะได้เป็นนะ เพราะอายุน้อย แม้จะใกล้ 30 แล้วก็ตาม

 

รัฐธรรมนูญตอนนั้นกำหนดว่าคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องอายุ 30 ปี ดังนั้นแม้พรรคจะให้ลงสมัคร แต่ทางจังหวัดก็ไม่รับ เพราะเห็นว่าอายุไม่ถึง แต่ก็มีการสู้กันในทางกฎหมาย เพราะเห็นว่า 30 ปีคืออายุคิดเมื่อเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่คิดในวันสมัคร ท้ายที่สุดก็ได้สมัคร จนได้ลงสนามไปหาเสียงปราศรัย นำเสนอเรื่องราวที่ต้องใช้ความรู้ด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแก้ระเบียบกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้เปิดเสรีนำเข้าข้าวมาขายในเมืองติดทะเล ซึ่งมีระเบียบห้ามนำเข้าข้าวสารเข้ามายังจังหวัดติดทะเล แล้วในที่สุดราคาก็จะลดลง รวมถึงพูดปราศรัยอีกหลายเรื่อง เนื่องจากการอยู่ใต้ยุคของจอมพล สฤษดิ์ และจอมพล ถนอม เป็นการหาเสียงทั้งที่อ่านรัฐธรรมนูญแล้วก็รู้อยู่ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปยังไงก็ต้องเป็นจอมพล ถนอม คนเดิม แล้วก็รู้ว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายค้านแน่นอน

 

ชวน หลีกภัย

 

อยากให้เล่าถึงการเริ่มต้นบทบาทในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยนั้นเป็นอย่างไร

ผมเข้าสภาครั้งแรก นั่งฟังคนอื่นอภิปรายในสภาราวๆ 3 เดือนถึงจะได้เริ่มต้นอภิปราย ตอนนั้นถือว่าเป็น ส.ส. ที่อภิปรายได้ดีที่สุด จากการอภิปรายถึงกรณีที่จอมพล ถนอม เอาเงินมาแจก ส.ส. พรรคตัวเอง 350,000 บาท และท้ายที่สุดก็เกิดการยึดอำนาจตัวเองโดยจอมพล ถนอม ผลพลอยได้จาก 2 ปี 9 เดือนของการมีสภาผู้แทนราษฎรที่การอภิปรายถูกถ่ายทอดมาตลอดก็ทำให้ชื่อ ชวน หลีกภัย เป็นที่รู้จัก จนเมื่อมีการเลือกตั้งปี 2518 ก็ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งจนผมได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก

 

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือความเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย ผมเชื่อในแนวทางนี้ ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในทัศนะผมมันให้สิทธิเสรีภาพ

 

เวลาผ่านมากับชีวิตการเป็นนักการเมือง ยังจำได้ไหมว่าอุดมการณ์สมัยเป็น ส.ส. สมัยแรก กับวันนี้ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรที่แม้ไม่อยากเป็นแต่เขาให้เป็น ยังเหมือนกันไหม

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือความเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย ผมเชื่อในแนวทางนี้ ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในทัศนะผมมันให้สิทธิเสรีภาพ

 

แต่การมีสิทธิเสรีภาพของระบบนี้คือการอยู่ภายใต้กติกาที่สังคมต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ตามอำเภอใจ ไม่อย่างนั้นสังคมก็อยู่ไม่ได้ ถ้าพูดไปก็คือผมเป็นพวกอุดมคติ ไม่ว่าพรรคจะเป็นอย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนพรรค คำไหนคำนั้น ซึ่งมันก็ผูกมัดตัวเอง เหมือนตอนที่พูดว่าใครได้ที่หนึ่ง คนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นเราก็มั่นใจว่าได้เป็นที่หนึ่ง

 

ผลออกมาคือแพ้พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ 2 เสียง แต่เสียงที่จะหนุนให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีมีมากกว่า เพราะทุกคนคิดว่าเราชนะ แต่ระหว่างได้เป็นนายกรัฐมนตรีกับการรักษาคำพูด ผมเลือกรักษาคำพูด ก็บอกพรรคที่ร่วมให้ไปหนุนท่านชวลิตแทน

 

ผมยังจำได้ ตอนนั้นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ตั้งคำถามว่าทำไมยกธงขาวเร็ว ในที่สุดก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

 

ชวน หลีกภัย

 

แต่ตอนนี้คำว่า ‘พลิกลิ้น’ หรือคำพูดที่ไม่ได้หมายความอย่างนั้นเสมอไปถูกใช้เยอะในปัจจุบัน คุณคิดเห็นอย่างไร

นักการเมืองส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันคือไปสัญญาอะไรไว้แล้วต้องทำนะ ถ้าสัญญาอะไรแล้วไม่ทำ คุณก็ต้องอธิบายเหตุผล ทำไม่ได้ต้องขอโทษนะ แต่ดีที่สุดคือพูดอะไรก็ต้องระวัง

 

จะให้สภาเป็นที่ยอมรับของประชาชนให้ได้ ให้สภาตรงต่อเวลา ใครมีสิทธิพูดได้ก็พูด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนนอกมองแล้วเบื่อ

 

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทั้งพรรษาการเมืองที่เรียกว่าเต็มแม็กซ์ หลายคนฝากถามมาว่าไม่เหนื่อยหรือ อายุขึ้นเลข 8 แล้วแต่ยังต้องมาทำหน้าที่อยู่

จุดที่ทำให้ทำอะไรได้เพราะตัดสินใจด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นว่าขอเป็นนักการเมือง ก็เลยเจออะไรก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อ เพราะเราตัดสินใจด้วยตนเอง โชคดีที่ร่างกายเรายังทำได้ นั่งเป็นประธานอยู่ 4-5 ชั่วโมงยังได้ ไม่เป็นโรค ยังทำอะไรได้อยู่ก็ทำ ไม่เกี่ยงเวลา

 

ความรู้สึกว่ามันมากแล้วนะไม่เกิด แต่ว่ารู้จักประมาณตัวเอง ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าไปฝืน แต่มาครั้งนี้ด้วยประสบการณ์ เราก็ตั้งใจแล้วว่าจะไม่ทำให้การประชุมสภาเป็นการประชุมที่ไม่เรียบร้อย

 

จะให้สภาเป็นที่ยอมรับของประชาชนให้ได้ ให้สภาตรงต่อเวลา ใครมีสิทธิพูดได้ก็พูด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คนนอกมองแล้วเบื่อ

 

ใช้สภารณรงค์ให้คนเรียนรู้ประชาธิปไตยสุจริตแท้จริง ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ใช่ลงเลือกตั้ง ใครมีเงินซื้อมาประมูลกัน ต่อไปก็ไม่ต้องเลือก ใครให้เงินมากกว่าคนนั้นก็ได้ไป แล้วถ้าลงทุนไป 50 ล้าน เชื่อหรือว่าจะมาเอาคืน 4 ล้าน เดือนละ 1 แสนบาท เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำให้คนเข้าใจ แล้วไม่ซื้อเสียง ไม่ขายเสียง เราอาจได้คนที่ดีเข้ามา

 

ชวน หลีกภัย

 

รอบนี้ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์ได้เสียงค่อนข้างน้อย กรุงเทพฯ ไม่เหลือเลย มองเรื่องนี้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าเพราะกระแสวูบหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การตั้งหัวหน้าพรรคบางพรรคที่เอาราชวงศ์เข้ามา เช่น ภาพที่ปรากฏที่ฮ่องกง ความตกใจหวั่นกลัวว่าพลเรือนและนักการเมืองจะคุมไม่ได้ ต้องเอาทหารเข้ามา นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่ง หรือที่หัวหน้าพรรคประกาศไปก็มีผลไม่มากก็น้อยเหมือนกัน ก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับเหมือนกันก็คือ ส.ส. เราที่แพ้เลือกตั้งได้อยู่กับชาวบ้านมากน้อยเพียงใด ก็ต้องคิดด้วย ไม่ใช่โยนไปที่อย่างหนึ่งอย่างใด เดี๋ยวจะมองข้ามจุดที่สำคัญไป

 

สิ่งที่เกิดตอนนี้เป็นเหมือนกระแสวูบหนึ่ง เหมือนสึนามิซัดมาแรงมาก กรุงเทพฯ ไม่เหลือสักคน อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏครับ

 

คุณมองว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาได้ไหม

สิ่งที่เกิดตอนนี้เป็นเหมือนกระแสวูบหนึ่ง เหมือนสึนามิซัดมาแรงมาก กรุงเทพฯ ไม่เหลือสักคน อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏครับ ยุคหนึ่งมีท่านถนัด คอมันตร์ คนเดียว ยุคหนึ่งมีท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนเดียว แต่ยุคท่านอภิสิทธิ์ ยุคท่านถนัด ถึงจะแพ้แต่คนอื่นก็ได้คะแนนสูง แต่ว่ายุคนี้คะแนนก็ไม่สูง แสดงว่าไม่ใช่ปกติธรรมดา ต้องแก้ไขโดยยึดหลักการดีๆ ที่เรามี

 

ชวน หลีกภัย

 

 

ย้อนกลับไปจะเห็นว่าทุกตำแหน่งก็เคยเป็นมาหมดแล้ว แน่นอนว่านี่คือจุดสูงสุดของชีวิตนักการเมืองแล้ว ตำแหน่งใดที่คุณมีความภาคภูมิใจสูงสุด

ที่จริงผมทำงานทุกตำแหน่งเต็มที่ เมื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมทำงานหนักยิ่งกว่ารัฐมนตรี เตรียมข้อมูลอภิปราย ต้องเตรียมเป็นเดือนๆ แม้กระทั่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้เป็นพลเรือน การตัดสินใจแต่ละเรื่องมีผลต่อบ้านเมืองมาก การที่ผมตัดสินใจ เช่น ส่งทหารไปติมอร์ตะวันออก ถ้าไม่เป็นพลเรือนอาจไม่ตัดสินใจอย่างนั้น ถือว่าการตัดสินใจบางเรื่องมีผลอย่างมากต่อประเทศ ซึ่งผมได้นำผู้นำต่างชาติเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้นำต่างชาติก็จะพูดถึงการที่ประเทศไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ผมฟังแล้วก็รู้สึกว่าการที่เราตัดสินใจมันเป็นผลให้กลายเป็นเรื่องแรกที่เขาชื่นชมประเทศไทยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ชวน หลีกภัย

 

ถ้าย้อนกลับมาในชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ ชวน หลีกภัย มีอะไรที่ผิดพลาดหรืออยากย้อนกลับไปแก้ไขไหม

ผมว่าคนทำงานจะมีจุดอ่อนอยู่เสมอไม่มากก็น้อย แต่ผมไม่อวดรู้อวดเห็น ผมไม่วินิจฉัยอะไรผิดๆ อย่างปัญหาภาคใต้ก็เพราะความอวดรู้อวดเห็น ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ เราอยู่ในพื้นที่แท้ๆ เรายังไม่กล้าพูดอย่างนั้นเลย ทำให้เราไม่สร้างปัญหา

 

แต่ที่คนว่านายชวนล่าช้า ผมไม่ตัดสินใจอย่างผิวเผินนะ ตัดสินใจผิดพลาดได้ วันนี้ยังไม่จบเลย ยังมีคนตายอยู่เลย เพราะการตัดสินใจผิดพลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 ทำให้เหตุการณ์มาถึงทุกวันนี้ ดังนั้นอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่การตัดสินใจผิดแบบเรื่องหนึ่งไปตัดสินใจอีกอย่างหนึ่งไม่มี  

 

อย่างรัฐมนตรีช่วยของผมเคยโดนเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ผมไม่โดน ผมคัดคนร่วมงานมาก แต่รัฐมนตรีช่วยของผมคงโดนลูกน้องหลอก คงไปรับผลประโยชน์อะไรมาจึงไปเซ็นเข้า ก็ต้องเตือนทุกคนด้วยว่าทำงานเพื่อส่วนร่วม ภารกิจค่อนข้างมาก เราอาจไม่ได้ศึกษาทั้งหมดหรอก แต่ถ้ามีคนร่วมงานที่เรากระจายงานเข้าไปแล้วเขาเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นได้น้อย

 

ชวน หลีกภัย

 

การแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ทำไมประชาชนควรต้องติดตามรับฟัง

ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค แต่ละพรรคจะประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านแตกต่างกันบ้าง แต่ทุกพรรครับรองว่าจะให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น บางพรรคบอกให้เท่านี้ บางพรรคบอกให้เท่านั้น เพราะฉะนั้นต้องติดตามว่าตกลงเขาจะให้อย่างไร

 

และเรื่องที่สอง ฝ่ายค้านเขามีหน้าที่ตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบาย มีสิทธิอภิปรายตัวบุคคลว่าคนคนนี้ไม่เหมาะ ถ้าทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จแน่ เขาก็มีสิทธิอภิปรายว่าคนคนนี้ไม่เหมาะ คุณสมบัติแต่ละคนเหมาะสมกับงานไหม เราเป็นประชาธิปไตย เป็นเจ้าของประเทศ ก็ต้องติดตาม

 

ชวน หลีกภัย

 

ถ้าคุณมีพรวิเศษเลือกเปลี่ยนแปลงได้ 1 อย่างในประเทศไทย อะไรที่อยากเปลี่ยนแปลง

ผมคิดว่าเราอย่าไปเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราเดินไปข้างหน้า สร้างกฎหมายให้เข้มแข็ง สิ่งที่ควรเปลี่ยนคือรับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป เราไม่อาจอยู่ได้โดยใช้คนมากเป็นภาระ

 

ประชาชนไม่รู้หรอกว่าเขาเสียภาษีไปแต่ละวัน ภาระสำคัญอันหนึ่งคือมาจ่ายเป็นค่าจ้างเงินเดือนกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำให้เงินที่จะไปพัฒนาประเทศเหลือน้อยเต็มที เพราะฉะนั้นต้องคุมงบประมาณที่จะเอามาจ้างคนประจำ ประสิทธิภาพคนจะต้องเพิ่มขึ้น งานใดที่อาจต้องใช้ 5 คนทำอาจลดเหลือคนเดียว อันนี้สำคัญมาก เพื่อเอาเงินส่วนที่เหลือไปพัฒนาประเทศ ซึ่งมันสำคัญ เพราะผมเห็นรัฐบาลนี้ก็เริ่มพูด แต่สายไปแล้ว ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการมาดูแล้ว เรื่องข้าราชการที่จะตั้งใหม่ต้องทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นรายได้จะไม่พอกับรายจ่าย แล้วไม่มีเหลือพัฒนาประเทศ ทำไมเพิ่งมาพูดตอนนี้ แล้วเมื่อ 5 ปีที่แล้วทำไมไม่พูด สำคัญมากก็คือไปเพิ่มข้าราชการบางฝ่ายมาก หลายฝ่ายบอกกับผมว่าไม่ได้อยากได้เพิ่มขึ้นมาเลย แต่ต้องจ้างคน อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีจะไม่ค่อยรู้

 

ถ้าเป็นภาคเอกชนเขาระวังมาก เพราะถ้าอยู่อย่างนี้เขาล้ม แต่ภาครัฐเราไม่ค่อยตื่นตัว เพราะยังไงก็มีเงินเดือนกิน ถึงจะเจ๊งหรือขาดทุนก็มีเงินเดือนขึ้น ไม่ค่อยทุกข์ร้อน อันนี้ผมคิดว่าภาครัฐต้องทุกข์ร้อน ต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นภาระกับคนรุ่นต่อไปอย่างมากในการมารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำเอาไว้เหล่านี้

 

ระบบเลือกตั้ง ถ้าเราเกรงใจคนที่ซื้อเสียง เราก็จะได้สิ่งที่ไม่ดี ต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าอะไรต้องเลิก อะไรไม่ควรเลิก แต่ระบบให้เงินแลกกับคะแนนเสียง อันนี้ต้องเลิกโดยเด็ดขาด

 

ชวน หลีกภัย

 

มีอะไรที่อุดมคติกว่านั้นอีกไหมครับ เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยากให้วัฒนธรรมอุปถัมภ์หายไปจากประเทศไทย

ลักษณะของวัฒนธรรมอย่างนี้มันมีอยู่ช่วงหนึ่ง เราไม่อาจไปเปลี่ยนสังคมโดยสิ้นเชิงได้ บางอย่างเป็นส่วนที่ดีต่อการอยู่รอดของสังคม เราจึงไม่มีปัญหาคนแก่ถูกทอดทิ้ง ประเทศพัฒนาแล้วเราจะเห็นว่ามีโฮมเลส ประเทศเราคนไม่มีบ้านอยู่มีน้อย เพราะเป็นลักษณะครอบครัวอุปถัมภ์กัน

 

ตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมว่าแม้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่เกิดวิกฤตสังคม ไม่มีคนตกงาน ไม่มีคนร่อนเร่อยู่กลางถนน เราไม่มีเพราะอะไร เพราะตกงานก็กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ระบบฝรั่งไม่มี ระบบฝรั่งออกจากบ้านแล้วก็เกือบจะไม่ได้กลับเข้าไปเลย แล้วพอพ่อแม่แก่เฒ่า ผมเห็นสารคดีพ่อแม่ฆ่าตัวตายเพราะไม่มีใครกลับไปบ้านอีกแล้ว เพราะฉะนั้นระบบอุปถัมภ์เป็นสิ่งที่ดี เหมือนระบบเกรงใจเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่เราเอาเรื่องนี้ไปปนกับระบบส่วนรวมเป็นเรื่องที่ไม่ดี 

 

เพราะฉะนั้นระบบเลือกตั้ง ถ้าเราเกรงใจคนที่ซื้อเสียง เราก็จะได้สิ่งที่ไม่ดี ต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าอะไรต้องเลิก อะไรไม่ควรเลิก แต่ระบบให้เงินแลกกับคะแนนเสียง อันนี้ต้องเลิกโดยเด็ดขาด 

 

ผมว่าสังคมเรายังอยู่ในเกณฑ์ดี ผมก็เลยบอกเสมอว่าอย่าไปสร้างบ้านพักคนชรามากนัก เพราะมันจะเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่ให้ลูกหลานเขาดูแล นี่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด ไม่มีใครดูแลพ่อแม่ได้ดีเท่ากับเรา ไม่มีใครดูแลพ่อแม่ได้เท่ากับลูกหลานตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ควรเปลี่ยน แต่เปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ในแง่ที่เป็นผลร้ายต่อส่วนรวม ดูคนติดคุกแต่ละรายที่เป็นนักการเมืองสิ นั่นก็มาจากความเกรงใจในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 

 

เขาบอกให้ปล่อยเงินกู้ก็ปล่อย เพราะนายสั่งมา ไปแต่งตั้งข้าราชการผิดเพราะอะไร เพราะนักการเมืองสั่งให้ตั้งคนนี้ คนนี้คุณสมบัติไม่ครบ คนนี้ติดคุกเพราะอะไร เพราะอยากให้ลูกน้องได้ตำแหน่งนี้ เมื่ออยากได้ก็ต้องให้นายช่วย ช่วยในทางที่ผิด หรือนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ติดคุกเพราะเกรงใจ เนื่องจากได้รับการขอร้องจากผู้มีพระคุณให้ไปวิ่งเต้นเรื่องนั้น พอวิ่งเต้นไม่สำเร็จ ตำรวจยศพลตำรวจเอก พันตำรวจเอก ก็พากันติดคุกเพราะไปยอมรับสภาพที่ไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย แต่เกรงใจนาย เราต้องแยกให้ออก

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising