×

‘ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา’ ไม่เข้ารับรางวัล ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2566 แจงไว้ทุกข์ให้แผ่นดินไทยร่วมกับประชาชนส่วนข้างมาก

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2023
  • LOADING...

วานนี้ (24 กรกฎาคม) จากกรณีที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลรางวัลทรงเกียรติแด่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปี 2566 โดย ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์ นักเขียน และนักวิจัย ได้รับรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ประจำปี 2566 ซึ่งกำหนดมอบรางวัล ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ช่วงเช้าวานนี้

 

ในเวลาต่อมา ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ขอขอบคุณคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ประจำปี 2566

 

ดิฉันขอน้อมรับการเชิดชูเกียรตินี้ แต่ต้องขออภัยที่ตัดสินใจไม่ไปร่วมงานที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากดิฉันกำลังไว้ทุกข์ให้กับแผ่นดินไทยร่วมกับประชาชนส่วนข้างมากของประเทศ ที่สิทธิและเสียงอันบริสุทธิ์ใจของเขาถูกปล้นชิงไปโดยคณะบุคคลและองค์กรการเมืองที่ล้วนแอบอ้างใช้มาตรา 112 เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ธุรกิจผูกขาด และพวกพ้อง อย่างไม่มีความละอายแก่ใจ

 

สำหรับ ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตและอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา จาก Research School of Pacific and Asian Studies, The Australian National University และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ โดยประธานาธิบดีฌัก ชีรัก ประเทศฝรั่งเศส โดยการเสนอของ ISCID, University du Littorale Academic de Lille, France.

 

ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้และความเชี่ยวชาญทางวิชาการหลากหลายด้าน ทั้งด้านภาษาและวรรณคดีไทย วรรณคดีเปรียบเทียบ มานุษยวิทยา วัฒนธรรมศึกษา ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์วรรณนา สิทธิมนุษยชน เอเชียศึกษา ภารตวิทยา การแพทย์แผนไทย และการบริหารการศึกษา และมีประสบการณ์การสอนระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา ประสบการณ์ด้านงานบรรณาธิการกิจในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งประสบการณ์ด้านการวิจัยและการบริหารชุดโครงการวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ส่งผลให้มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในวงวิชาการเป็นจำนวนมาก

 

ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา ยังมีประสบการณ์ด้านการก่อตั้ง และการบริหารหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นจำนวนมาก เช่น เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ประธานกรรมการหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจีนในระบบเศรษฐกิจโลก หัวหน้าภาควิชาไทยศึกษาและหัวหน้าภาควิชาพื้นฐานทั่วไป คณะศิลปศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising