×

เธอคือ Chloé Zhao (โคลอี เจา) ‘เมื่อคนนอกเล่าเรื่องคนใน’ ผู้กำกับหญิงเก่งที่น่าจับตามองที่สุดจาก Nomadland

26.04.2021
  • LOADING...
เธอคือ Chloé Zhao (โคลอี เจา) ‘เมื่อคนนอกเล่าเรื่องคนใน’ ผู้กำกับหญิงเก่งที่น่าจับตามองที่สุดจาก Nomadland

ไม่รู้ว่าทันทีที่งานเขียนชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป โคลอี เจา ผู้หญิงเชื้อสายจีนปีวัย 39 ปีคนนี้จะได้ถือออสการ์ในมือ และรีบโทรไปหาคนที่บ้านให้ทำความสะอาดเชลฟ์รอตั้งรางวัลแล้วหรือยัง ซึ่งนี่อาจเป็นความสำเร็จสูงสุดของประวัติการทำงานในฐานะคนทำหนังของเธอ และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ เธอจะเป็นผู้กำกับหญิงเอเชียนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ถือครองรางวัลนี้ตามหลัง แคธรีน บิเกโลว์ ที่เคยกำกับ The Hurt Locker ในปี 2008

 

 

โคลอีอยู่ในฐานะผู้หญิงที่ถูกจับตามองในแสงไฟตลอดช่วงปีที่ผ่านมาในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Nomadland อันว่าด้วยเรื่องของพื้นที่ ชีวิต โลกทุนนิยม และการโหยหาความรู้สึกบางอย่างของตัวละครวัย 60 อย่าง เฟิร์น (รับบทโดย ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) มนุษย์ผู้สูญเสียทุกอย่างในภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 เธอจึงออกเดินทางไปกับรถ RV ในฐานะ ‘Nomad’ ผู้ไร้ที่อยู่ถาวร หางานทำเป็นช่วงๆ และ ‘ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ’

 

จากสื่อสำนักต่างๆ ทั่วโลกที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ก็พบว่ามันบอกเล่าความเป็นอเมริกันชนได้อย่างยอดเยี่ยม สำรวจโลกที่กำลังผลัดเปลี่ยนยุค ถ่ายทอดความนึกคิดของสังคมแรงงานชนชั้นกลางอาวุโส ซึ่งเพียงแม้แต่เราชมตัวอย่างภาพยนตร์ก็รู้สึกขนลุกกับบรรยากาศและความรู้สึกที่ท่วมท้นออกมา

 

แน่นอนว่าเรื่องที่เล่าทั้งหมดนั้นผ่านมุมมองของผู้กำกับที่เป็นเชื้อสายจีนโดยแท้ จนหลายๆ สำนักกล่าวขานว่านี่คือการเล่าเรื่องคนในจากคนนอก – ‘คนนอก’ ที่อยู่ไกลออกไปจากความเข้าใจวิถีชีวิตอเมริกันชนขนาดนี้ได้

 

โคลอี เจา และฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Nomadland

Photo: Courtesy of Searchlight Pictures / 20th Century Studios

 

ผู้หญิงที่เหมือนจะเป็น ‘คนนอก’

โคลอีเติบโตมาในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในช่วงปลายยุค 80 โดยมีพ่อทำงานในบริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของประเทศ ส่วนแม่ของเธอทำงานในโรงพยาบาล และหลังจากพ่อแม่แยกทางกัน เธอมีโอกาสเดินทางไปเรียนอยู่ที่ Brighton College ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่อายุ 15 ปีแบบไม่รู้ภาษาอังกฤษสักคำ ที่นั่นทำให้เธอได้ซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่ ก่อนจะเดินทางไปเรียนไฮสคูลที่ลอสแอนเจลิส และถือครองปริญญาในสาขารัฐศาสตร์จาก Mount Holyoke College ในรัฐแมสซาชูเซตส์ หลังเรียนจบเธอทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์อยู่พักหนึ่ง ใช้ชีวิตเหมือนที่เธอเคยใฝ่ฝันไว้ว่าสักวันเธอจะใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

 

นิตยสาร Vogue อเมริกาเคยสัมภาษณ์เธอในปี 2018 ขณะกำลังมีผลงานภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าอย่าง The Rider และให้นิยามโคลอีวัยเด็กว่า เธอเป็น ‘วัยรุ่นหัวขบถที่ขี้เกียจเรียน’ เธอเติบโตมาอย่างที่พ่อแม่ของเธอปล่อยให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอต้องการ เป็นในแบบที่เธอเป็น เธอชอบวาดการ์ตูนและแต่งแฟนฟิกชัน รวมถึงยังชื่นชอบงานภาพยนตร์อย่างมาก โดยหนังที่ทำให้เธอได้รู้จักกับโลกของภาพยนตร์อเมริกันก็มีตั้งแต่ The Terminator (1984), Ghost (1990) หรือ Sister Act (1992) ซึ่งในปี 2000 คือช่วงที่เธอต้องเดินทางมาเรียนที่ลอสแอนเจลิสในโรงเรียนไฮสคูลรัฐ ใช้ชีวิตคนเดียวในอพาร์ตเมนต์ย่านโคเรียทาวน์ และเธอบอกว่าเป็นช่วงชีวิตที่บรรยากาศและความรู้สึกสร้างความทรงจำให้กับเธอว่าดินแดนเสรีแห่งหนึ่งมอบรสชาติชีวิตอะไรให้กับเธอบ้าง และมันดูจะไม่เหมือนในหนังที่เธอเคยดูเอาเสียเลย

 

โคลอี เจา และฟรานเซส แม็กดอร์มานด์ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Nomadland

Photo: Courtesy of Searchlight Pictures / 20th Century Studios

 

เล่าเรื่องหนังแบบ ‘โคลอี เจา’

โคลอีให้สัมภาษณ์เสมอว่าเธอชอบ ‘เล่าเรื่อง’ เพราะเธอเชื่อว่าสิ่งเดียวที่จะยังคงอยู่ตลอดไปคือเรื่องเล่า “มันสากลมาก และมันไม่จำเป็นว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องราวนั้นต้องมาจากคนในสังคมนั้นเท่านั้น” เธอกล่าวกับ Vulture ไว้เช่นนั้น โคลอีตัดสินใจเข้าเรียนภาพยนตร์อย่างจริงจังที่ New York University Tisch School of the Arts ในนิวยอร์ก ที่ในคลาสมีอาจารย์ชื่อ สไปค์ ลี เป็นคนสอน

 

แรงบันดาลใจการทำภาพยนตร์ของเธอคือการที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Happy Together (1997) ของผู้กำกับหว่องกาไว ที่เธออธิบายว่า ‘นี่คือหนังที่ทำให้ฉันอยากทำหนัง’ และเธอยังบอกว่าเธอจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาดูซ้ำๆ วนไปทุกครั้งก่อนที่เธอจะเดินกล้องถ่ายทำหนังของตัวเองเสมอ และวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของเธอคือการพยายามเอาชีวิตของตัวเองเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวที่เธอจะเล่าให้ได้มากที่สุด ให้รู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องราว สถานที่ ในฐานะผู้มาเยือน และเธอจะเติมบริบทงานของเธอด้วยคนในท้องถิ่นนั้นๆ สร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาให้พวกเขาแสดง ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของ ‘นักแสดงที่ไม่ใช่นักแสดง’ ทำให้เรื่องราวสมบูรณ์ที่สุดที่เล่าเรื่องผ่านมนุษย์คนหนึ่ง จนคล้ายจะเป็น ‘Docudrama’ หรือละครกึ่งสารคดี

 

วิธีการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์มนุษย์แสดงให้เห็นชัดเจนในงานก่อนๆ ของเธอ ทั้งตอนที่เธอทำหนังเรื่องแรกในปี 2015 อย่าง Songs My Brothers Taught Me เธอได้พบกับ จอห์น เรดดี ในหนังสือรุ่น และเรียกเขามาแคสต์ หรือในเรื่อง The Rider (2017) เธอแคสต์ บราดี แจนโดรว์ มาเล่นบทคาวบอยผู้ดิ้นรนจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งนักแสดงคนนี้เป็นคนทำงานอยู่ในฟาร์มปศุสัตว์จริงๆ

 

วิธีการเช่นนี้ที่โคลอีเลือกจะแคสต์นักแสดงที่ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ หรือเอาคนทั่วไปในท้องถิ่นนั้นๆ ตามท้องเรื่องมาแสดง เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงผลลัพธ์จากนักแสดงมืออาชีพ ที่มักจะใช้วิธีการแสดงที่ผ่านการฝึกฝนมา หรือขนบการแสดงแบบเดิมๆ ที่โลกภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีมาอยู่แล้ว และกับ Nomadland นี้ แม้เธอจะมี ฟรานเซส นักแสดงระดับเจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงมาแสดงนำที่ควบตำแหน่งหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของหนังด้วย แต่นักแสดงที่รายล้อมฟรานเซสนั้นล้วนแต่เป็นนักแสดงประกอบที่ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพทั้งสิ้น

 

 

โคลอี เจา ที่มองอเมริกันชนแบบ ‘คนใน’

Nomadland ภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของเธอนี้คือการหยิบเอาหนังสือเรื่อง Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century ของ เจสสิกา บรูเดอร์ ที่ตีพิมพ์ในปี 2017 มาดัดแปลง ซึ่งว่าด้วยเรื่องของ เฟิร์น แม่หม้ายผัวตายที่ออกเดินทางด้วยรถ RV ไปเรื่อยๆ หลังจากต้องเสียงานไปในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อค้นหาพื้นที่ของตัวเอง และพบเจอชีวิตในฐานะ ‘Nomad’ คนไม่มีหลักแหล่ง หางานและที่พักอาศัยไปเรื่อยๆ โดยเป็นการทำงานระหว่างเธอและนักแสดงนำคนเก่ง ฟรานเซส ที่ช่วยกันเติมเต็มตัวละคร ‘เฟิร์น’ จากประสบการณ์และความรู้สึกของคนในวัย ในช่วงเวลา ในสถานที่นี้จริงๆ

 

ก่อนหน้าที่โคลอีจะเริ่มทำ Nomadland เธอเองก็ได้ร่างโปรเจกต์ส่วนตัวของเธอขึ้นมาเกี่ยวกับผู้คนที่ใช้ชีวิตในรถ RV ซึ่งด้วยความบังเอิญ เธอได้พบกับฟรานเซสหลังได้ชมหนังเรื่อง The Rider ใน Toronto Film Festival 2017 แน่นอนว่านักแสดงรุ่นใหญ่คนนี้ถูกใจงานของเธอ และยื่นหนังสือที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงโปรเจกต์ที่เธอร่างไว้ กลายเป็นว่าโคลอีต้องกระโจนลงไปในเรื่องที่เธออยากทำแบบที่ลึกลงไปอีก

 

ด้วยความที่หนังสือที่ถูกหยิบมาดัดแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องแต่ง ก่อนถ่ายทำโคลอีจึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อสร้างปูมหลังและชีวิตของตัวละครนี้ขึ้นมา เธอยื่นโจทย์ให้ฟรานเซสเลือกของไม่กี่ชิ้นที่คิดว่าสำคัญต่อชีวิตเธอเพื่อเอาขึ้นรถ RV ไปด้วย และนักแสดงวัย 63 ปี เลือกเก้าอี้พับสีเขียว และจานที่เป็นของขวัญจากพ่อ และนี่คือจุดกำเนิดของพล็อตทั้งหมด

 

 

เธอค้นพบเรื่องราวของ Nomad มากมาย และเก็บเกี่ยวมันเข้ามาในหนังของเธอ เธอบอกว่าหลายๆ คนที่ตัดสินใจมาเป็นคนไม่มีหลักแหล่งแบบนี้ พวกเขาแค่ต้องการเดินทาง ทำงาน และเก็บเงิน เพื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถกลับไปอยู่หลักแหล่งถาวรในสักวันได้ หรือบางคนเองก็เพียงแค่ต้องการโยกย้ายตัวเองไปเรื่อยๆ และกว่าที่เธอจะได้ ‘นักแสดงที่ไม่ใช่นักแสดง’ หลายๆ คนจาก Nomad ตัวจริงมาร่วมแสดง เธอต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขา ฟังวิธีการพูด ฟังเรื่องเล่า และสร้างความ ‘เชื่อใจ’ และความน่าเซอร์ไพรส์ของการแสดงที่คาดเดาไม่ได้ คือการปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้ากับบริบทสถานการณ์มากที่สุด ผ่านการบอกเล่าจากสิ่งที่เธอและทีมงานได้พบเห็นหน้างานอีกด้วย

 

เนื้อในของเรื่องราวใน Nomadland ตามที่นักวิจารณ์และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์หลายๆ คนได้กล่าวถึงไว้ มันคือการเล่าเรื่องการล่มสลายลงไปของมนุษย์ในระบบทุนนิยมที่วิพากษ์สังคมอเมริกันชนอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนชีวิตของผู้คนในวันที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิสัยทัศน์และมุมมองที่มาจากโคลอีที่มองเห็นและพาตัวเองลงไปอยู่ในเรื่องราวนี้จริงๆ และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ถึงควรเป็นคนที่น่าจับตามองมากๆ ในปัจจุบัน

 

 

Nomadland คือใบเบิกทางให้คนทั้งโลกได้รู้จักชื่อของเธอ ทั้งในแง่ความสามารถ มุมมอง วิธีการทำงานที่น่าสนใจ โดยหลังจากโปรเจกต์นี้ เธอรับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel Studios อย่าง Eternals ที่มีนักแสดงอย่าง แอนเจลินา โจลี แสดงนำ เตรียมออกฉายเร็วๆ นี้อีกด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

FYI
  • Nomadland ยังไม่มีกำหนดในโรงภาพยนตร์บ้านเรา แต่คุณสามารถรับชมตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่นี่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising