วันนี้ (28 ตุลาคม) กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ถึงกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่ได้มีการพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในวันดังกล่าวได้มีการเรียกประชุมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่า 3,000 คน เพื่อชี้แจงกรณีที่หนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาฯ ซึ่งมี จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกรถูกระงับการจัดพิมพ์ เนื่องจากหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาและภาพปกที่แตกต่างไปจากที่เคยจัดทำ ระหว่างการชี้แจงของจิตรได้มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งขึ้นไปบนเวที และจับจิตร ‘โยนบก’ ลงมายังด้านล่างของเวที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสังคมของชาวประชาคมจุฬาฯ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างมาก
ในอดีตชาวจุฬาฯ จะมีวิธีการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการ ‘โยนน้ำ’ โดยมีนัยที่จะให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกต่อการกระทำและชำระล้างความผิดที่ได้กระทำไป แต่สำหรับกรณี ‘โยนบก’ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้วิธีนี้ในการลงโทษนอกเหนือไปจากที่จิตรถูกกระทำในวันดังกล่าว ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกันระหว่างอดีตและปัจจุบัน ทางกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่ามิอาจใช้มุมมองของสังคมปัจจุบันมาพิจารณาว่าเหตุการณ์การลงโทษผู้กระทำผิดที่เกิดขึ้นในครั้งอดีต ทั้งการ ‘โยนน้ำ’ และ ‘โยนบก’ นั้นเหมาะสมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าการ ‘โยนบก’ ในกรณีที่จิตรถูกกระทำนั้นถือเป็นการลงโทษรูปแบบหนึ่งซึ่งจิตรไม่สมควรได้รับ เพียงเพราะต้องการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม
แม้ว่าในกรณี ‘โยนบก’ จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2496 จะมีประจักษ์พยานกว่า 3,000 คนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น แต่ข้อเขียนที่ปรากฏในบันทึกที่สามารถเป็นหลักฐานใช้อ้างอิงนั้นมีอยู่เพียงจำกัด ทางกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่าหลักฐานซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏดังกล่าวมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างครบถ้วนทุกมุม จึงมิอาจนำมาใช้พิจารณาตัดสินอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
ดังนั้น กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีมติในการออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อแสดงความเสียใจต่อ จิตร ภูมิศักดิ์ และครอบครัว จากกรณีที่จิตรได้ถูกกระทำความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวมา ณ ที่นี้
ทั้งนี้ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอยึดมั่นในหลักการไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และผลักดันให้เกิดการแสดงออกทางความคิดที่แตกต่างและสร้างสรรค์ตามแนวทางสันติวิธี
สำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด ผลงาน 3 รายการของเขาได้รับยกย่องเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- หนังสือ กรณี ‘โยนบก’ 23 ตุลา โดยสำนักพิมพ์นกฮูก