ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่สูง คนรุ่นใหม่ของจีนได้นำวิธีการเดินทางที่แปลกใหม่ที่เรียกว่า ‘Special Force Style’ ซึ่งมีลักษณะเป็นการเที่ยวที่เร่งรีบ โดยคนหนุ่มสาวที่มีงบประมาณจำกัดและตารางงานที่อัดแน่นพยายามสัมผัสประสบการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายในกรอบเวลาที่จำกัดอย่างมาก ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ภายในกรอบเวลา 24-48 ชั่วโมง
ตารางเที่ยวที่อัดแน่นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสุ่มไปกินตัวอย่างอาหารท้องถิ่น การเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว และความพยายามโดยรวมเพื่อรวมประสบการณ์การเดินทางที่คุ้มค่า ที่ลดจาก 1 สัปดาห์ให้อยู่ใน 1 หรือ 2 วัน ว
ภาพประกอบที่ชัดเจนของเทรนด์นี้มาจากบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว Xiaotiantian ที่ได้โพสต์วิดีโอที่แสดงให้เห็นการไปยังฉงชิ่งในมณฑลเสฉวน ไฮไลต์การเดินทางของเธอคือ การกินอาหารท้องถิ่นที่แตกต่างกัน 21 เมนูภายใน 24 ชั่วโมง โดยภายใน 24 ชั่วโมง วิดีโอดังกล่าวมียอดดูมากกว่า 110,000 ครั้งอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนไปสู่การเดินทางแบบ Special Force Style
ที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนจะขับเคลื่อนโดยความจำเป็นทางเศรษฐกิจมากกว่าความชอบส่วนบุคคล Xiyu อดีตพนักงานบริษัทวัย 30 ปี แนะนำว่าสิ่งนี้สะท้อนถึงการต่อสู้ทางการเงินของหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมาก เขาอธิบายว่า การเดินทางสั้นๆ ที่อัดแน่นเหล่านี้ จะช่วยให้คนหนุ่มสาวสามารถเพลิดเพลินกับการเดินทางได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
แท้จริงแล้วบริบททางเศรษฐกิจที่ทำให้แนวโน้มนี้เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย ในไตรมาสที่ 2 อัตราการว่างงานของเยาวชนจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% หมายความว่าคน 1 ใน 5 ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ไม่มีงานทำ
นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในไตรมาสเดียวกันนั้น อยู่ที่ 6.3% เป็นตัวเลขที่น่าผิดหวัง เพราะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้อย่างมาก ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ความตึงเครียดทางการเงินที่วัยรุ่นจีนรู้สึกนั้นยังปรากฏให้เห็นในรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกด้วย ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 3.1% ในเดือนที่แล้ว ซึ่งลดลงอย่างมากจากการเติบโต 12.7% ในเดือนพฤษภาคม ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงระดับของการมองโลกในแง่ร้ายของผู้บริโภค และพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่ากิจกรรมท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่การใช้จ่ายกลับไม่เติบโตตาม อย่างเช่น มีการเดินทางทำลายสถิติ 106 ล้านครั้งในช่วงวันหยุดในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมีมูลค่ารวมประมาณ 5.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่รายงานในปี 2019 เล็กน้อย ส่วนสัปดาห์วันหยุดวันแรงงานก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน โดยจำนวนการเดินทางแซงหน้าในปี 2019 แต่การใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 75.40 ดอลลาร์เท่านั้น ลดลง 10.5% จากระดับก่อนเกิดโรคระบาด
ช่องว่างระหว่างความเต็มใจที่จะเดินทางและความลังเลที่จะใช้จ่ายนี้บ่งชี้ถึงการลดระดับการบริโภค Yating Xu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่า สิ่งนี้สะท้อนถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดน้อยลงของชาวจีนจำนวนมาก Xu เตือนว่า หากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว จะส่งผลเสียต่อการเติบโตของรายได้และการบริโภคภาคเอกชน และคุกคามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Trip.com ได้รายงานการค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นและกิจกรรมกลางแจ้งที่เพิ่มขึ้น เช่น การตั้งแคมป์ การขี่จักรยานในเมือง และเทศกาลดนตรี สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวกำลังมองหาทางเลือกในการพักผ่อนที่ราคาไม่แพงและอยู่ใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านี่อาจเป็นข่าวดีสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ก็เป็นลางไม่ดีสำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยพึ่งพาการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในอดีต
อย่างเช่น การท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยการเดินทางไปต่างประเทศของชาวจีนยังคงน้อยกว่า 50% ของที่เคยเป็นมาก่อนเกิดโรคระบาด สิ่งนี้สร้างความผิดหวังให้กับอุตสาหกรรมในภูมิภาคที่คาดหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับโควิด
การท่องเที่ยวแบบ ‘Special Force Style’ ที่เพิ่มขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวแดนมังกรยังจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงกันในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นักวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ธรรมชาติที่เร่งรีบของการเดินทางดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาสังคมมากกว่าวิธีแก้ปัญหาที่เป็นทางเลือกใหม่ พวกเขาตั้งแง่ว่า ถ้าคนหนุ่มสาวได้รับเงินเดือนที่ดีกว่า และได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องหันไปใช้รูปแบบการเดินทางที่อัดแน่นเช่นนี้
ภาพ: Yang Bo / China News Service / VCG via Getty Images
อ้างอิง: