ผลการศึกษาขององค์กรสิทธิมนุษยชน Freedom House พบว่า รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มใช้เครื่องมือออนไลน์ในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นหรือรับข่าวสารในอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายกรณีมีความคล้ายคลึงกับโมเดลท่ีจีนใช้ในการกระชับอำนาจและกำราบคนที่เห็นต่าง
รายงานประจำปีของ Freedom House ซึ่งทำการสังเกตการณ์จาก 65 ประเทศ พบว่า ระดับเสรีภาพของประชากรในอินเทอร์เน็ตทั่วโลกร่วงลงเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันในปี 2018 สวนทางกับกลุ่มอำนาจนิยมทางดิจิทัล (Digital Authoritarianism) ที่กำลังขยายตัว
นักวิจัยของ Freedom House พบว่า 26 ประเทศมีเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตลดลง จากการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2017 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ขณะที่ 19 ประเทศมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ
รายงานระบุด้วยว่า การโฆษณาชวนเชื่อและการให้ข้อมูลเท็จเป็นพิษภัยต่อโลกดิจิทัลเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
“ประชาธิปไตยกำลังประสบปัญหาในยุคดิจิทัล ในขณะที่จีนกำลังส่งออกโมเดลการเซนเซอร์และสอดส่องในโลกไซเบอร์เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ” ไมเคิล อบราโมวิช ประธานองค์กร Freedom House กล่าว “รูปแบบดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อโลกอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง อีกทั้งเป็นอันตรายต่อโอกาสการพัฒนาประชาธิปไตยให้ดีขึ้นทั่วโลก”
หนึ่งในภัยคุกคามใหญ่หลวงในเวลานี้ก็คือ การที่จีนพยายามสร้างโลกดิจิทัลใหม่ในลักษณะของการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จด้วยเทคโนโลยี
Freedom House ระบุว่า เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลจีนได้ประชุมหารือในเรื่องการควบคุมข้อมูลข่าวสารกับ 36 ประเทศจาก 65 ประเทศที่ทางองค์กรสังเกตการณ์อยู่ นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังจัดหาอุปกรณ์โทรคมนาคมและเครื่องมือสอดแนมให้กับรัฐบาลต่างชาติจำนวนหนึ่งด้วย
รายงานยังพบว่า มีรัฐบาล 17 ประเทศที่อนุมัติหรือเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมสื่อออนไลน์ภายใต้ชื่อมาตรการกวาดล้างข่าวปลอม ขณะที่ 18 ประเทศได้ยกระดับการตรวจตราหรือผ่อนปรนมาตรการป้องกันการเข้ารหัส เพื่อตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: