มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรยังคงพึ่งพารายได้จากนักศึกษาจีนเป็นอย่างมาก แม้จะมีคำแนะนำจากภาครัฐให้ลดการพึ่งพิงเงินทุนจากปักกิ่งก็ตาม จากการวิเคราะห์บัญชีการเงินของมหาวิทยาลัยในปี 2023-24 โดย The Telegraph พบว่าสถาบันบางแห่งมีรายได้เกือบหนึ่งในสามมาจากนักศึกษาจีน
โดยรวมแล้ว นักศึกษาจีนสร้างรายได้ค่าเล่าเรียนให้แก่มหาวิทยาลัย 158 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร ประมาณ 5.5 พันล้านปอนด์ (ราว 2.4 แสนล้านบาท) ในปีที่แล้ว คิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้ค่าเล่าเรียนทั้งหมดของมหาวิทยาลัย
Royal College of Art (RCA) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยมีนักศึกษาจากจีนถึง 1,295 คนในปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดของสถาบันในลอนดอนแห่งนี้ The Telegraph ประเมินว่า เมื่อคำนวณเป็นค่าเล่าเรียน จะเทียบเท่ากับรายได้ถึง 100 ล้านปอนด์ (ราว 4.4 พันล้านบาท) หรือ 37% ของรายได้ทั้งหมดของวิทยาลัย นอกจากนี้
จากการวิเคราะห์พบว่า 21 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรพึ่งพารายได้จากนักศึกษาจีนมากกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด โดยมี 4 มหาวิทยาลัยที่รายได้มากกว่า 20% มาจากนักศึกษาจีน ได้แก่ Royal College of Art, University of the Arts London (UAL), University of Southampton และ Goldsmiths, University of London
นอกจากนี้ 57 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร (คิดเป็น 37% ของสถาบันที่ได้รับการวิเคราะห์) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายได้จากนักศึกษาจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะได้รับคำแนะนำให้ลดการพึ่งพานักศึกษาจีนมากเกินไป ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอิทธิพลจากปักกิ่ง
โดย Office for Students (OfS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือถึงสถาบันบางแห่ง (ประมาณ 23 แห่ง ซึ่งไม่ได้เปิดเผยชื่อ) ที่มีสัดส่วนนักศึกษาจีนจำนวนมากในปี 2023 เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาวางแผนสำรองในกรณีที่การรับนักศึกษาต่างชาติหยุดชะงักกะทันหัน ซึ่งอาจเกิดจาก ‘สภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจส่งผลกระทบอย่างฉับพลันและมีนัยสำคัญต่อรายได้’ ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างขวางว่าหมายถึงความสัมพันธ์ที่อาจเลวร้ายลงกับปักกิ่ง
ในรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานะการเงินของมหาวิทยาลัยที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิถุนายน)ที่ผ่านมา OfS ย้ำเตือนสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของ ‘ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์’ ต่อการรับนักศึกษา สถานการณ์นี้ยิ่งน่ากังวลหลังจากจำนวนนักศึกษาต่างชาติโดยรวมลดลงกว่าหนึ่งในห้าเมื่อปีที่แล้ว
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดวีซ่านักศึกษาที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมนำมาใช้ ทำให้เกิดความกังวลว่ามหาวิทยาลัยอาจต้องเร่งรับนักศึกษาจากจีนมากยิ่งขึ้นในปีนี้เพื่อรักษาสมดุลทางการเงิน และก่อนที่อาจมีข้อจำกัดใหม่ๆ กับประเทศอื่นๆ
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งเตือนว่ามาตรการจำกัดวีซ่านักศึกษาจะทำให้วิกฤตการเงินของมหาวิทยาลัยรุนแรงขึ้น โดย The Telegraph รายงานว่า 43% ของสถาบันอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักรกำลังประสบภาวะขาดทุน นักศึกษาจีนครองตำแหน่งกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในสหราชอาณาจักรมาโดยตลอดจนกระทั่งปีการศึกษา 2022/23 ก่อนที่จำนวนนักศึกษาจากอินเดียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าเป็นครั้งแรก
แต่การลดลงของนักศึกษาต่างชาติโดยรวมในปีที่แล้ว และการลดลงอย่างมากของนักศึกษาอินเดีย ทำให้ช่องว่างระหว่างอินเดียและจีนแคบลง ข้อมูลจาก Higher Education Statistics Authority (Hesa) ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี แสดงให้เห็นว่ามีนักศึกษาอินเดีย 107,489 คน และนักศึกษาจีน 98,400 คนในสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว
Will Dent หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนทางการเงินของ OfS กล่าวในการแถลงข่าวกับ The Telegraph ว่า “อินเดียและจีนเป็นประเทศที่มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในสหราชอาณาจักรมากที่สุดอย่างชัดเจน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ และเราได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในรายงานของเราเป็นครั้งแรก”
ความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลจีนในสหราชอาณาจักรเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว จากกรณีความขัดแย้งทางการทูตเรื่องโรงงานเหล็กที่จีนเป็นเจ้าของในเมือง Scunthorpe
ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์เจ้าหน้าที่อังกฤษว่าเพิกเฉยต่อการแทรกแซงของจีนในมหาวิทยาลัย ขณะที่ประธานคณะกรรมการข่าวกรองและความมั่นคงของรัฐสภาได้เรียกร้องให้มีการจัดทำทะเบียนสาธารณะบันทึกเงินบริจาคจากจีนที่ให้แก่มหาวิทยาลัยอังกฤษ
Bridget Phillipson รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ตัวเลขที่น่ากังวลเหล่านี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าเหตุใดการเพิ่มค่าเล่าเรียนและมาตรการปฏิรูปที่ผมประกาศเมื่อปีที่แล้วจึงมีความจำเป็น”
ด้านโฆษกของ UAL กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญกับความหลากหลายของนักศึกษา และนักศึกษาต่างชาติเป็นส่วนสำคัญของความหลากหลายนั้น UAL ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมาหลายปีแล้ว และได้วางมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้”
ขณะที่โฆษกของ Goldsmiths, University of London ระบุว่า “จุดแข็งของสหราชอาณาจักรในการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติกลับถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนในปัจจุบัน เนื่องจากรูปแบบการระดมทุนมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”
ภาพ: Richard Baker/In Pictures via Getty Images
อ้างอิง: