×

อนาคตหุ้นจีน-ฮ่องกงในยุคทรัมป์ 2.0 จะเป็นอย่างไร

04.12.2024
  • LOADING...
หุ้นจีน-ฮ่องกง

การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้นำสหรัฐอเมริกาอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีนอีกครั้ง ความทรงจำจากยุคสงครามการค้าทรัมป์ 1.0 ยังชัดเจน และครั้งนี้อาจมาพร้อมกับนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นจากแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงสุดถึง 60% ซึ่งอาจกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน-ฮ่องกงในระยะข้างหน้า ดังนั้นการเตรียมแผนรับมือกับความไม่แน่นอนดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

 

ย้อนกลับไปเมื่อยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2017-2021 ซึ่งเปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 7-25% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังกดดันให้บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ และทั่วโลกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้า กดดัน FDI ที่ไหลเข้าจีนให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยปัจจัยกดดันข้างต้นส่งผลให้ GDP จีนลดลงจาก 6.7%YoY ในปี 2018 เหลือ 6%YoY ในปี 2019 เช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี CSI 300 และ Hang Seng ที่ปรับลงถึงราว 25% และ 15% ตามลำดับในปี 2018

 

อย่างไรก็ดี จีนเรียนรู้บทเรียนสำคัญจากยุคทรัมป์ 1.0 โดยเริ่มแก้เกมผ่าน 2 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การกระจายความเสี่ยงทางการค้า และ 2. การพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนลดการพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยลดสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จาก 18% ในปี 2017 เหลือ 15% ในปี 2023 และกระจายการค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาเซียน รัสเซีย และเม็กซิโก

 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้การสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การผลักดันบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น HUAWEI และ SMIC ให้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง อีกทั้งยังให้การสนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรมด้าน AI, 5G, EV และพลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีบางอย่างอาจยังตามหลังสหรัฐฯ แต่ในภาพรวมก็ไม่ได้ห่างกันมากแล้วในปัจจุบัน

 

ตัดภาพกลับมาที่แนวโน้มของจีนในยุคทรัมป์ 2.0 นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อาจกลับมาเป็นประเด็นหลักที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนอีกครั้ง โดยผลสำรวจของ Reuters เผยว่าคนจีนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2025 จะอยู่ในช่วง 15-60% โดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 38% โดย Reuters ประเมินว่านโยบายภาษีทรัมป์อาจกดดันเศรษฐกิจจีนในปี 2025 ให้โตลดลงราว 0.5-1.0% เหลือ 4.5%YoY ชะลอตัวจากคาดการณ์ GDP ปี 2024 ที่ 4.8%YoY

 

ดังนั้นตลาดหุ้นจีน-ฮ่องกงในปี 2025 จึงอาจเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยกดดันภายนอกจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มส่งออก ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นจีน-ฮ่องกงจึงต้องมีความ Selective เน้นกลุ่มที่มีนโยบายภาครัฐสนับสนุน มีรายได้หลักมาจากในประเทศ และธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี โดยในเชิงพื้นฐานหุ้นเทคโนโลยีจีนยังคงน่าสนใจทั้งในแง่อัตราการเติบโตของกำไรและมูลค่า สะท้อนผ่านกราฟด้านล่างที่แสดงคาดการณ์กำไร หรือ Forward EPS 12 เดือนข้างหน้า (เส้นสีแดง) ของดัชนี Hang Seng TECH ซึ่งเป็นดัชนีตัวแทนของหุ้นเทคโนโลยีจีนที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับราคาดัชนี (เส้นสีส้ม) ที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นตามทิศทางของคาดการณ์กำไร ขณะที่ Forward P/E 12 เดือนข้างหน้า (เส้นสีฟ้า) ยังอยู่ที่เพียง 15.3 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 24.9 เท่า ราว 1 S.D. สะท้อนว่ายังมี Upside เหลืออยู่อีกมาก โดยปัจจุบัน Consensus ให้ราคาเป้าหมายของดัชนี Hang Seng TECH ที่ 5,550 จุด คิดเป็น Upside ราว 26% จากราคาปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2024)

 

 

ภาพ: Yongyuan Dai / Getty Images

อ้างอิง:

  • Bloomberg
FYI

นักลงทุนสามารถกระจายลงทุนหุ้นเทคโนโลยีจีนผ่าน CNTECH01 ซึ่งคือ Deposita​ry Receipt (DR) หรือตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงคือ ChinaAMC Hang Seng TECH Index ETF (3088.HK) ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนี Hang Seng TECH ซึ่งรวบรวม 30 หุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของจีนที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลและจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เช่น กลุ่ม ATMX ได้แก่ Alibaba, Tencent, Meituan และ Xiaomi ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีน้ำหนักในดัชนีมากกว่า 30% โดยนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของ DR ได้ที่ bualuang.co.th/dr

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X