×

ส่อง ‘ทุกมุมโลก’ เจอผลกระทบอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจจีนกำลังทรุดตัว

28.08.2023
  • LOADING...
วิกฤต อสังหา จีน

จากความหวังสู่ความเลวร้าย เมื่อจีนซึ่งเคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกหลังช่วงโควิด แต่การชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับความตึงเครียดในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มลุกลามไปทั่วโลก

 

รัฐบาลทั่วโลกกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการชะลอตัวของจีน เนื่องจากจีนนำเข้าทุกอย่างตั้งแต่วัสดุก่อสร้างไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

 

Caterpillar บริษัทด้านรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า ความต้องการเครื่องจักรในไซต์งานก่อสร้างของจีนแย่กว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ด้าน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มองว่าปัญหาเศรษฐกิจของจีนนั้นเป็น ‘ระเบิดเวลา’

 

ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกได้ถอนเงินทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากตลาดหุ้นจีน โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ (Blue Chip) ขณะที่ Goldman Sachs และ Morgan Stanley ได้ปรับลดเป้าหมายของตลาดหุ้นจีน และได้เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปยังภูมิภาคส่วนอื่น

 

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบทางการค้ามากที่สุด เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา โดยญี่ปุ่นรายงานการส่งออกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่จีนลดการสั่งซื้อรถยนต์และชิป และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเกาหลีใต้ รวมทั้งไทย ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของประเทศ โดยอ้างสาเหตุการฟื้นตัวที่น่าผิดหวังของจีน

 

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด เพราะการชะลอตัวของจีนจะฉุดราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ตกต่ำ และภาวะเงินฝืดในประเทศหมายความว่าราคาสินค้าที่จัดส่งทั่วโลกจะชะลอตัวลง ถือเป็นข้อดีสำหรับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่ยังคงต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ขณะที่ตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เช่น อินเดีย ยังมองเห็นโอกาส โดยหวังว่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่เลือกย้ายถิ่นฐานการผลิตออกจากจีน

 

อย่างไรก็ตาม จีนในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ท้ายที่สุดแล้วการชะลอตัวเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อส่วนที่เหลือของโลก การวิเคราะห์จาก IMF แสดงให้เห็นว่า เมื่ออัตราการเติบโตของจีนเพิ่มขึ้น 1% การขยายตัวทั่วโลกก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.3% แต่ในมุมกลับกัน หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เศรษฐกิจโลกก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก

 

ในปัจจุบันดูเหมือนว่าปัญหาความตกต่ำของจีนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไปแล้วทั่วโลกในหลากหลายด้าน

 

การค้าโลกชะลอตัว: มูลค่าการนำเข้าของจีนลดลงเป็นเวลา 9 เดือน จาก 10 เดือนที่ผ่านมา จากความต้องการในประเทศที่ลดลงตั้งแต่ช่วงโควิดแพร่ระบาด แอฟริกาและเอเชียได้รับผลกระทบหนักสุด โดยมูลค่าการนำเข้าลดลงมากกว่า 14% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากเกาหลีใต้และไต้หวัน อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงก็ส่งผลต่อมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปยังจีนเช่นกัน

 

แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด: ดัชนีราคาผู้ผลิตจีนหดตัวลงตลอดช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าที่จัดส่งจากประเทศลดลง นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศที่ยังคงดิ้นรนกับอัตราเงินเฟ้อสูง นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ประมาณการณ์ว่า หากประเทศจีนเกิด ‘Hard Landing’ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ ในปี 2025 ลดลง 0.7 จุด เหลือ 1.4%

 

การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า: ผู้บริโภคจีนใช้จ่ายด้านบริการต่างๆ เช่น การเดินทางและการท่องเที่ยว มากกว่าซื้อสินค้า แต่ยังเลือกที่จะใช้จ่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งรัฐบาลได้สั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์ไปยังหลายประเทศ และเที่ยวบินยังขาดแคลนต่อเนื่อง หมายความว่าการเดินทางจะมีราคาแพงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวจากจีนเป็นอย่างมาก

 

สกุลเงินทั่วโลกผันผวน: เงินหยวนจีนอ่อนค่าลงแล้วมากกว่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ลาตินอเมริกา กลุ่มยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ซึ่งข้อมูลของ Bloomberg พบว่าสกุลเงินในประเทศทั้งหลายมีความสัมพันธ์กับค่าเงินหยวนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เงินบาทไทย และเงินเปโซเม็กซิโก

 

พันธบัตรหมดความน่าสนใจ: ต่างชาติแห่เทขายพันธบัตรจีน 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เริ่มปี หลังการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของจีน และกำลังมองหาทางเลือกอื่น เช่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย โดยเชื่อว่าธนาคารกลางของทั้งสองประเทศใกล้สิ้นสุดวงจรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ภาคธุรกิจยังเห็น ‘โอกาส’ ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

รายงานจากบริษัททั่วมุมโลกต่างส่งสัญญาณถึงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญมานานหลายทศวรรษสำหรับอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ สุขภาพ และการเดินทาง อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคให้แก่บริษัท

 

Qi Wang ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ MegaTrust Investment เปิดเผยว่า จำไม่ได้ว่าช่วงใดที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อสังหา และธุรกิจอยู่ในระดับต่ำมากเท่าตอนนี้

 

Maike Schuh ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Evonik ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี กล่าวถึงการฟื้นตัวของจีนอยู่ในระดับที่ช้ามาก โดยสังเกตจากการก่อสร้างยังอยู่ในภาวะวิกฤต และอัตราการว่างงานโดยเฉพาะคนอายุน้อย

 

หลังจากที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปต่างประเทศน้อยลง บริษัทท่องเที่ยว Booking Holdings กล่าวในเดือนนี้ว่า ชาวจีนไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศมากนัก และบริษัทยังไม่คาดหวังถึงการฟื้นตัวในจีน แต่แน่นอนว่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อบริษัทหากการฟื้นตัวเริ่มเกิดขึ้น

 

ในขณะเดียวกัน หลายบริษัทยังคงพบการเติบโตในจีน โดย Apple รายงานการเติบโตของยอดขาย 8% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ Starbucks ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 กล่าวว่า การฟื้นตัวที่อ่อนแอไม่มีผลกระทบชัดเจนต่อยอดขายของบริษัท ในขณะที่ Walmart รายงานยอดขายเพิ่มขึ้น 22% เมื่อไตรมาสที่แล้ว และ Ralph Lauren กล่าวว่ายอดขายเติบโตกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่จีนถูกล็อกดาวน์

 

Aegon กลุ่มบริษัทประกันภัยในเนเธอร์แลนด์ พบการไหลออกของเงินทุนในบริษัทร่วมทุนด้านการจัดสรรสินทรัพย์ในจีน แต่ยอดขายประกันชีวิตในจีนหลังการเปิดประเทศเพิ่มขึ้นถึง 80%

 

ด้าน Siemens กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมของเยอรมนี กล่าวว่าคำสั่งซื้อใหม่ในประเทศจีนลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจระบบอัตโนมัติในโรงงาน แต่ผู้บริหารเชื่อมั่นว่าในระยะยาวจีนจะเป็นหนึ่งในตลาดหลักสำหรับบริษัทอย่างแน่นอน และจะมีส่วนต่อการสร้างผลกำไรเป็นอย่างยิ่ง

 

กลุ่มเหมืองแร่ Rio Tinto ยังคงมองบวกอย่างระมัดระวังต่อเศรษฐกิจจีน Jakob Stausholm ผู้บริหารระดับสูง กล่าวว่า จีนได้แสดงให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถ้าหากเศรษฐกิจเกิดความพ่ายแพ้ ทางการจีนจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

 

ถึงกระนั้นความเสี่ยงจากการชะลอตัวของจีนยังเป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดเดาในหลายบริษัท อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่าจีนจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X