×

‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ หรือไม่? ถอดรหัสการลงทุน 6 หมื่นล้านบาทของแบรนด์รถจีนในไทย นี่คือการลงทุนจริงจัง หรือแค่ฉาบฉวย?

16.05.2024
  • LOADING...
รถจีน

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • แบรนด์รถยนต์จีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยมากถึง 7 แบรนด์ ประกอบด้วย MG, GWM, BYD, CHANGAN, GAC AION, WULING และ CHERY โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกันมากกว่า 60,000 ล้านบาท
  • แบรนด์รถยนต์จีนเลือกนำเข้าและซื้อชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยที่เป็นสัญชาติจีน เนื่องจากได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยบางรายไม่ได้รับคำสั่งซื้อ จึงมีการเปรียบเทียบว่าเป็น ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ โดยผู้กล่าวประโยคนี้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยนั่นเอง
  • MG เป็นผู้บุกเบิกตลาดรถจีนในไทย โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เข้ามาลงทุนตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนด้วยเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ตามด้วย GWM ที่ซื้อกิจการโรงงาน GM ในไทย และประกาศลงทุนกว่า 22,600 ล้านบาท ก่อนที่ BYD จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอีก 17,891 ล้านบาท ทำให้เกิดกระแส EV ฟีเวอร์ และกระตุ้นให้แบรนด์อื่นๆ ตามเข้ามาอีกหลายราย
  • แม้ผู้ประกอบการไทยบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของแบรนด์รถจีนในช่วงแรก แต่ภาพรวมแล้วการลงทุนจากจีนก็นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงาน การซื้อบริการ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากมาย ซึ่งคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการทำ ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ อย่างที่เปรียบเปรย

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาทันที หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวว่า ‘แบรนด์รถยนต์จีนลงทุนในไทย เปรียบเหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ’

 

คำกล่าวนี้เป็นจริงแค่ไหนอย่างไร THE STANDARD WEALTH จะมาวิเคราะห์ให้อ่านกัน ซึ่งบทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลจากข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ โดยมีแหล่งที่มาจากภาครัฐและบริษัทที่เข้ามาลงทุน

 

MG ผู้บุกเบิก

 

เรียกว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นหรือผู้บุกเบิกสำหรับการทำตลาดรถยนต์แบรนด์จีนในไทยยุคใหม่ที่แท้จริงสำหรับแบรนด์ MG โดย MG เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งบริษัทแม่อย่าง SAIC Motor ได้ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ของไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท

 

เม็ดเงินดังกล่าวเป็นการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์และเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง โดยโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 437.5 ไร่ มีกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี

 

 

MG มีรถจำหน่ายนับสิบรุ่น ผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างโชกโชน โดยมีครบทั้งรถน้ำมัน, รถไฮบริด, PHEV และ EV ที่ต้องบอกว่า MG คือผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนในไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะรุ่น ZS EV ที่ทำตลาดมานานกว่า 5 ปีแล้ว

 

GWM จุดประกาย

 

แบรนด์ต่อมา Great Wall Motor สร้างชื่อด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงงานต่อจาก General Motors ในไทย พร้อมประกาศแผนการลงทุนในไทยด้วยมูลค่ารวมกว่า 22,600 ล้านบาท เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง พื้นที่ 412 ไร่

 

ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุด 80,000 คันต่อปี วางเป้าหมายเพื่อเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์พวงมาลัยขวา โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (xEV) เพื่อการส่งออกของภูมิภาคอาเซียน

 

แผนการทำตลาดของ Great Wall Motor ที่ประกาศเอาไว้คือ จะเปิดตัวรถใหม่ 9 รุ่นในเวลา 3 ปี ซึ่งทำได้สำเร็จครบถ้วนตามที่ประกาศเอาไว้ และได้ประกาศแผนต่อไปคือจะเปิดตัวอีก 6 รุ่นภายในอีก 2 ปี นั่นเท่ากับว่าจะเปิดตัว 15 รุ่นภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ทำตลาดในไทย

 

BYD จุดพลุ

 

หลังจากที่ 2 แบรนด์แรกประสบความสำเร็จในระดับน่าพึงพอใจ ประจวบเหมาะกับจังหวะที่ภาครัฐของไทยประกาศนโยบายสนับสนุนการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้ BYD ที่เคยเข้ามาบุกเบิกทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอยู่หลายปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยราคาที่สูง

 

แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ทำให้ BYD ตัดสินใจหาพาร์ตเนอร์ใหม่ และขอสนับสนุนการลงทุนจาก BOI ของไทยเป็นมูลค่า 17,891 ล้านบาท โดยได้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 พื้นที่ 600 ไร่ กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี และยังตั้งเป้าหมายเป็นฐานการผลิตพวงมาลัยเพื่อส่งออกไปทั่วโลกอีกด้วย

 

หลังจาก BYD เปิดตัวแบรนด์และรถที่จำหน่าย เกิดกระแส EV ฟีเวอร์ทั่วประเทศ มีคนไปรอต่อคิวที่โชว์รูมเพื่อจองซื้อกันชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งสิ่งนี้เองน่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้แบรนด์รถยนต์จีนอื่นๆ เข้ามาทำตลาดตามมา

 

รถจีน

 

สำหรับรถที่จำหน่ายมีด้วยกัน 4 รุ่น ได้แก่ ATTO 3, DOLPHIN, SEAL รถไฟฟ้า 100% และกำลังจะจำหน่าย Seal U รถแบบ PHEV

 

CHANGAN ตามติด

 

CHANGAN ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ได้ศึกษาการทำตลาดในไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว และได้บรรลุข้อตกลงกับ BOI ของไทย โดยมีแผนลงทุนสร้างโรงงานในเฟสแรก 8,800 ล้านบาท และมีแผนการลงทุนเฟส 2 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวมราว 20,000 ล้านบาท

 

โดยวางเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตพวงมาลัยขวาเพื่อส่งจำหน่ายทั่วโลก คาดว่าจะเริ่มต้นผลิตระยะแรกได้ภายในต้นปี 2568 มีกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) พื้นที่ 1,500 ไร่ ปัจจุบันมีรถยนต์จำหน่าย 3 รุ่น ได้แก่ S07, L07 และ LUMIN ซึ่งทั้งหมดเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

 

GAC AION ผู้สร้างสงครามราคา

 

GAC บุกตลาดไทยด้วยแบรนด์ AION โดยแรกเริ่มระบุแผนการลงทุนในไทยมูลค่าราว 6,000-6,400 ล้านบาท (ตัวเลขไม่นิ่ง เพราะแต่ละสื่อลงข่าวต่างช่วงเวลากัน) เพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย คาดจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 และจะเริ่มผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2567

 

แต่จากการให้ข่าวอีกครั้งของผู้บริหารและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทยระบุว่า GAC ลงทุนเป็นมูลค่า 2,300-2,400 ล้านบาท กำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี โดยโรงงานจะอยู่ในเขตในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

 

ปัจจุบันมีรถจำหน่ายเพียงรุ่นเดียวคือ Y Plus ที่เมื่อแรกเปิดตัวตั้งราคา 1,099,000 บาท และประกาศลดราคาลงมาถึง 4 ครั้ง เรียกว่าเป็นผู้เริ่มสงครามราคา ทำให้แบรนด์อื่นๆ ต้องประกาศลดราคาตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

 

WULING น้องเล็กขอแจม

 

หนึ่งในแบรนด์ที่ทำตลาดในไทยแบบเข้ามาและหายไปเป็นระยะๆ ล่าสุดได้ตัวแทนใหม่ EV PRIMUS เป็นผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ WULING ในไทย โดยลงทุนเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท จากการเช่าโรงงานที่มีอยู่แล้วและปรับปรุงติดตั้งไลน์การประกอบรถยนต์ WULING ที่จังหวัดชลบุรี มีกำลังการผลิตสูงสุด 6,000 คันต่อปี โดยจะมีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กทั้งหมด

 

ปัจจุบันมีจำหน่ายเพียงรุ่นเดียวคือ Air EV และจะเปิดตัวอีก 1 รุ่นคือ BINGO

 

CHERY มาแน่ แต่ยังไม่ชัดเจน

 

จากการให้สัมภาษณ์สื่อของผู้บริหาร CHERY ระบุว่า ในช่วงแรกจะจ้างโรงงานในไทยที่มีอยู่แล้วประกอบรถยนต์ไฟฟ้า กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี หลังจากนั้นเฟสที่ 2 ในช่วงปี 2569-2570 จะตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย และในเฟสที่ 3 ภายในปี 2573 จะขยายโรงงานพร้อมส่งออกด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีระบุตัวเลขมูลค่าการลงทุน รวมถึงการอนุมัติโครงการจาก BOI หรือการเซ็นเงื่อนไขใดๆ กับภาครัฐของไทย แต่มีการเปิดตัวแนะนำแบรนด์และรถยนต์ที่จะจำหน่ายแล้ว ได้แก่ OMODA 5 และ JAECOO 6, 7 และ 8 ซึ่งทั้งหมดจะเปิดตัวในปี 2567

 

 

ZEEKR รับจองแล้ว

 

ZEEKR Thailand หรือ ซีคเกอร์ ประเทศไทย เข้ามาทำตลาดโดยบริษัทแม่ดำเนินกิจการเอง ปัจจุบันตั้งดีลเลอร์แล้วคือ ‘นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย’ ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างอรุณพลัส และเอ็มจีซี-เอเชีย แต่ยังไม่มีแผนการลงทุนตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย พร้อมเปิดรับจองรถ 2 รุ่นแรกที่จะทำตลาดในไทยคือ ZEEKR 009 และ ZEEKR X ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยยอดจองกว่า 300 คัน

 

XPENG ซุ่มเงียบ

 

แบรนด์ EV ที่ประกาศตัวว่าเป็น Tesla Killer ของจีนอย่าง XPENG ได้เข้ามาทำตลาดในไทยด้วยการตั้งผู้จัดจำหน่าย (Distributor) คือ ‘นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย’ โดยบริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และเปิดรับจองได้ยอดไปกว่า 100 คัน เมื่องานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้หากรวมตัวเลขการลงทุนทั้งหมดจากแบรนด์รถยนต์ของจีนคาดว่าจะเป็นมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทยจำนวนไม่น้อย มีการซื้อและใช้บริการต่างๆ ของผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน ซึ่งคงไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างที่เปรียบเปรย

 

แล้วคำกล่าวนี้มาได้อย่างไร

 

คำตอบคือ สำหรับการซื้อชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์ต้องยอมรับว่าทางแบรนด์รถยนต์จีนเลือกที่จะนำเข้าเอง หรือเลือกซื้อจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยที่เป็นสัญชาติจีน เนื่องจากได้ต้นทุนที่ถูกกว่า

 

จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคำกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ เพราะผู้กล่าวประโยคนี้คือหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่ไม่ได้รับคำสั่งซื้อจากแบรนด์จีนนั่นเอง

 

ภาพปก: TANG KE / Feature China / Future Publishing via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising