อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ของจีน ลดลงเหลือ 0% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็ลดลงอีก ตอกย้ำว่า อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจจีน
วันนี้ (10 กรกฎาคม) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนที่แล้วไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในแบบสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% และต่ำกว่าตัวเลข YoY เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ 0.2%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ชะลอตัวลงเหลือ 0.4% จาก 0.6%
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ใช้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิตและมักถูกจับตามอง เพราะจะมีผลกับอัตราเงินเฟ้อในเดือนถัดไป ลดลง 5.4% ในเดือนมิถุนายน เทียบกับที่ลดลง 4.6% ในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะลดลง 5%
โดยข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดนี้นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง
ความกังวลเรื่องภาวะเงินฝืดในจีนกำลังเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และส่งผลต่อความเชื่อมั่น เนื่องจากผู้ผลิตต้องต่อสู้กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงและอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในและต่างประเทศ
แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนดำเนินการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น แต่มาตรการส่วนใหญ่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในวงจำกัด โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อย ขณะที่รัฐบาลก็ได้ขยายเวลาลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงได้พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนบางคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าเขาจะกล่าวย้ำว่า นโยบายต่างๆ จะต้อง ‘ตรงเป้าหมาย ครอบคลุม และมีการประสานงานที่ดี’ สนับสนุนการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ของจีนจะไม่ใหญ่โต เนื่องจากมีปัจจัยจำกัดสำคัญนั่นคือภาระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในระดับสูง เนื่องจากแต่เดิมรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายที่มากขึ้น
อ้างอิง: