×
SCB Omnibus Fund 2024

จับตา ‘จีน-สหรัฐฯ’ ซ้อมรบคู่ขนาน อาจทำ Fund Flow ไหลเข้าหุ้นหยุดชะงัก ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่จบลง

22.08.2022
  • LOADING...
จีน-สหรัฐฯ

ประเด็นความเสี่ยงเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เกิดขึ้นล่าสุด จากกรณีที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

 

การเดินทางในครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก พร้อมกับตอบโต้ในเชิงจิตวิทยาด้วยการประกาศซ้อมรบบริเวณโดยรอบเกาะไต้หวันหลังจากนั้น สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ โดยเฉพาะไต้หวัน จีน และฮ่องกง 

 

ล่าสุดฝั่งของสหรัฐฯ ได้ประกาศร่วมซ้อมรบกับทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อการโจมตีด้วยมิสไซล์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ทางการจีนก็มีแผนที่จะฝึกซ้อมรบเพิ่มเติม โดยการส่งทหารไปร่วมฝึกซ้อมกับรัสเซีย 

 

การซ้อมรบของสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตอบโต้กันไปมาในเชิงจิตวิทยาของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือจะเป็นการทำให้บรรยากาศการเมืองโลกอึมครึมมากขึ้นหรือไม่

 

Fund Flow ไหลเข้าหุ้นอาจหยุดชะงักชั่วคราว

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่การหยุดชะงักชั่วคราวของกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) ที่ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น 

 

“เดิมทีสหรัฐฯ มีกำหนดการจะซ้อมรบช่วงเดือนตุลาคม แต่เลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนนี้ จึงกลายเป็นการซ้อมรบคู่ขนานกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ความเสี่ยงด้านการเมืองอาจสร้างแรงกดดันต่อหุ้น ซึ่งขณะนี้ราคาไม่ได้อยู่ด้านล่างอีกแล้ว ทำให้นักลงทุนอาจแตะเบรกชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์” 

 

สำหรับความเสี่ยงเฉพาะตัวของหุ้นไทยอีกอย่างหนึ่งที่ต้องจับตาคือ การที่เงินลงทุนไหลเข้ามาค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะการซื้อสะสมใน Futures จำนวนมาก ซึ่งมักจะกลายเป็นจุดพีคของตลาดในระยะสั้น 

 

“รอบนี้ Fund Flow เข้าเร็ว และเป็น Hot Money ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นและขายตราสารหนี้ระยะยาว ขณะที่เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย” 

 

ในเชิงกลยุทธ์ นักลงทุนอาจจะลดน้ำหนักหุ้นลงมาก่อน ช่วงที่ผ่านมาเราอาจเพิ่มน้ำหนักหุ้นเป็น 60-70% อาจจะผ่อนลงมาเหลือ 50% และกันเงินสดไว้ 10-20% 

 

ขณะที่ กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า การซ้อมรบแบบคู่ขนานที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณลบต่อภาพการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียเหนือ แต่ยังเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องติดตามต่อไป ซึ่งหากยืดเยื้อก็อาจจะกระทบต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเอเชียเหนือ และเป็นความเสี่ยงต่อการค้าโลก 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เว้นแต่จะมีความตึงเครียดมากขึ้น และในหุ้นบางกลุ่ม เช่น นิคมอุตสาหกรรม มักจะได้อานิสงส์จากสถานการณ์เช่นนี้ 

 

ไทยอาจได้อานิสงส์จากการแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทาน

ในมุมของ สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้จะมีการซ้อมรบทั้งในฝั่งของสหรัฐฯ และจีนตามมา แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่น่าจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างการที่รัสเซียส่งทหารบุกเข้าไปในยูเครน ปัจจัยสำคัญคือทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างกำลังเผชิญกับปัญหาภายใน 

 

“จีนมีปัญหาทั้งเรื่องวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และโควิด ต่างจากรัสเซียที่ได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ในมุมของสหรัฐฯ ก็ยังไม่พร้อมจะรับมือกับปัญหา Supply Chain Disruption ฉะนั้นเราน่าจะเห็นการตอบโต้ในเชิงจิตวิทยามากกว่าการใช้กำลัง เพราะทั้งจีนและสหรัฐฯ ไม่ได้พร้อมจะทำสงคราม” 

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะตามมาคือ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง อย่างที่เราเห็นจากกรณีของรัสเซีย ซึ่งขายน้ำมันให้กับประเทศในกลุ่ม BRICS ในราคาที่ต่ำกว่าการขายให้กับประเทศในยุโรป 

 

ส่วนประเทศไทยอาจจะเป็นผู้ที่ได้อานิสงส์ทางอ้อม จากการที่สามารถเข้าได้กับทั้งสองฝั่ง เช่นเดียวกับประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือญี่ปุ่น ที่ยังเห็น Fund Flow ไหลเข้า และอาจจะได้อานิสงส์ทางอ้อม 

 

“คิดว่าผลกระทบจากประเด็นนี้อาจจะยังไม่มากนักในระยะสั้น เราจะเห็นว่าตลาดหุ้นจีน ไต้หวัน ฮ่องกง สามารถทรงตัวได้หลังจากที่เพโลซีเดินทางออกจากไต้หวัน” 

 

ตลาดคลายกังวล แต่อย่าชะล่าใจปัญหาเงินเฟ้อ

 

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หากดูจาก Fund Flow ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่านักลงทุน โดยเฉพาะต่างชาติยังไม่ได้กังวลต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มากนัก เรายังเห็นเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย 

 

“ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงปัจจุบัน นักลงทุนคลายกังวลไปค่อนข้างมาก ดูได้จากดัชนีความกลัว (VIX) ที่ลดลง” 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่ขึ้นมาเร็วอาจมีจังหวะปรับฐานบ้าง ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุน และตลาดครึ่งปีหลังน่าจะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ปรับขึ้น ส่วนความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่คาดเดายาก แต่หากมีประเด็นเซอร์ไพรส์ตลาด บางจังหวะนักลงทุนไม่ควรจะที่รีบตกใจขายออกไป

 

ด้าน ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย เปิดเผยว่า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นเหมือนปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากดดันตลาด ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้ตลาดพักฐานหรือปรับฐาน คือเรื่องของเงินเฟ้อที่ยังไม่จบลงไป

 

“ตลาดหุ้นมีโอกาสพักฐานเป็นอย่างน้อย การพักฐานในที่นี้คือการลดลงไม่ถึง 10% หรืออาจจะถึงขั้นปรับฐานลงมากกว่า 10% หลังจากที่ตลาดหุ้นลิงโลดเกินไปหน่อยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา” 

 

ส่วนตัวมองว่าหุ้นเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มที่นำตลาดให้ปรับตัวลงในรอบนี้ จากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่กลับมาอีกครัง ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากฝั่งของอุปทาน แม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจจะพีคแล้ว แต่ในอังกฤษดูเหมือนจะยังไม่พีค และมีโอกาสจะขยับไปถึง 15% จากการประเมินของ Citi 

 

“การพีคของเงินเฟ้อตอนนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แม้ว่าจะพีคไปแล้ว แต่ปัญหายังห่างไกลจากจุดจบ ขณะที่ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งเราคงจะต้องลงทุนภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างประเทศต่อไป”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising