×

หากถูกตัดขาดจากสหรัฐฯ คนจีนตกงาน เศรษฐกิจจีนล่มจมหรือไม่?

09.04.2025
  • LOADING...
การปรับตัวของเศรษฐกิจจีนในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายของทรัมป์

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีมาจัดการกับจีนอย่างหนักหน่วงหลายระลอก ฝ่ายจีนไม่ยอมอ่อนข้อ/ตอบโต้กลับไปทุกครั้ง ในขณะที่ ผู้นำหลายประเทศยอมศิโรราบให้ทรัมป์ เช่น ญี่ปุ่น แต่ผู้นำจีนกลับไม่เคยหมอบให้ทรัมป์ มีจีนเพียงประเทศเดียวที่สู้กลับสหรัฐฯ แบบไม่ยอมถอย ทรัมป์จึงไม่พอใจจีนเป็นอย่างมาก และขู่ขึ้นภาษีกับสินค้าจีนเพิ่มอีก 50% (ของเดิม คือ 54%) ฝ่ายจีนก็ยังคงไม่ยอมก้มหัวให้ทรัมป์ และพร้อมสวนหมัดตอบโต้กลับไปอย่างไม่เกรงกลัวทรัมป์

 

การตอบโต้ไปมาอย่างดุเดือดของสองมหาอำนาจแบบไม่มีใครยอมใคร มีหลายท่านสงสัยและสอบถามดิฉันว่า “เมื่อจีนต้องเจอกับภาษีมหาโหดของทรัมป์ จนถึงขั้นที่สหรัฐฯ ปิดประตูไม่ซื้อสินค้าจากจีนเลย แล้วคนจีนจะตกงานกันระนาวแค่ไหน เศรษฐกิจจีนจะล่มจมหรือไม่” บทความนี้จึงจะมาตอบคำถามนี้ โดยเน้นวิเคราะห์ผลกระทบต่อการจ้างงานในจีน และจีนมีทางรอดหรือไม่?

 

ประเด็นแรก จีนพึ่งพารายได้จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ มากแค่ไหน?

 

ข้อมูลปี 2024 รายได้จากการส่งออกของจีนไปตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14.7% ของรายได้การส่งออกทั้งหมดของจีน มีมูลค่าประมาณ 5.25 แสนล้านดอลลาร์ จึงชัดเจนว่า ตลาดสหรัฐฯ ยังคงมีความสำคัญสำหรับจีน ดังนั้นในระยะสั้น การส่งออกของจีนย่อมจะถูกกระทบจากมาตรการภาษีสูงลิ่วของทรัมป์อย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ 

 

อย่างไรก็ดี จีนได้พยายามอย่างมาก เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ (เดิมเคยมีสัดส่วนสูงมากกว่า 20% ของการส่งออกจีน) ด้วยการเร่งกระจายตลาดส่งออก (diversify) ไปยังภูมิภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศในอาเซียน ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา 

 

ประเด็นที่สอง หากส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ จะกระทบการจ้างงานในจีนอย่างไร

หากทรัมป์กีดกันการค้าจีนอย่างหนัก จนทำให้จีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป ย่อมจะกระทบการจ้างงานในจีน โดยเฉพาะในมณฑลที่เป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกของจีน และกระทบรายได้ของคนงานจีน อย่างไรก็ดี ผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละมณฑล ดังนี้

 

(1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกและการจ้างงาน ในขณะนี้ อุตสาหกรรมหลักของจีนที่มีการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์/เครื่องจักร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์/ของใช้บ้าน รวมทั้งอุตสาหกรรมของเล่น/ของประดับตกแต่ง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ย่อมจะได้รับผลกระทบ หากส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง หรือส่งออกไม่ได้เลย เนื่องด้วยภาษีมหาโหดของทรัมป์ จึงถูกบีบให้ต้องปรับตัวหันมาเน้นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ในการกระจายสินค้าส่งออกไปตลาดอื่น เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐฯ 

 

ในกรณีที่ปรับตัวไม่ได้ โรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะต้องลดกำลังผลิต หรือปิดสายการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมของเล่น หากต้องสูญเสียตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ที่นำเข้าของเล่นจากจีนกว่า 80% และการผลิตส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลาง/ขนาดเล็ก (SMEs) ก็อาจจะปิดกิจการ

 

ในแง่การจ้างงาน อุตสาหกรรมที่เน้นส่งออกไปสหรัฐฯ เหล่านี้มีการจ้างงานโดยรวม ประมาณ 25-30 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานทางอ้อมในธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง (เช่น วัตถุดิบ การขนส่ง บริการสนับสนุน) อีกประมาณ 70-100 ล้านคน โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของกำลังแรงงานจีนที่มีอยู่ทั้งหมด 800 ล้านคน ดังนั้น แรงงานจีนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกโดยตรงหรือการจ้างงานทางอ้อมที่เกี่ยวข้อง ย่อมจะถูกกระทบ หากโรงงานต้องลดการจ้างงานหรือต้องเลิกจ้างงานในที่สุด

 

(2) ผลกระทบต่อรายได้ เมื่อการผลิต/การส่งออกลดลง การจ้างงานลดลง รายได้ของแรงงานจีนเหล่านี้ก็จะลดลง ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมส่งออกของจีนมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าภาคเกษตรกรรม ดังนั้นแรงงานในเมืองใหญ่ก็จะถูกกระทบมากกว่าชาวจีนในชนบท คนงานในโรงงานจะสูญเสียรายได้มากกว่าเกษตรกรจีนในชนบท และหากโรงงานต้องลดการจ้างงาน หรือปิดกิจการ คนงานจีนเหล่านี้อาจต้องกลับไปทำงานในชนบทที่มีรายได้ต่ำกว่า 

 

ตัวอย่างค่าแรงชาวจีนที่ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 6,000-10,000 หยวน เมื่อเทียบกับรายได้เกษตรกรจีน เฉลี่ยเดือนละ 1,500-3,000 หยวน

 

(3) ผลกระทบในระดับพื้นที่/มณฑล

มณฑลจีนที่เป็นฐานผลิตและมีการส่งออกสูงย่อมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นมณฑลตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซู ซึ่งมีโรงงานจำนวนมากที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ นอกจากนี้ มณฑลตอนกลาง/ตอนในที่เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนและสินค้าประเภทแรงงานเข้มข้น เช่น มณฑลเสฉวน และมณฑลเหอหนาน ก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

ประเด็นที่สาม เศรษฐกิจจีนจะล่มจมหรือไม่ ทางรอดของจีนคืออะไร 

 

สำหรับความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม หากการกีดกันในทุกรูปแบบของทรัมป์ ทำให้จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้เหมือนเดิม และกระทบการจ้างงานจำนวนมาก คนตกงาน รายได้ลดลง ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคมตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอพยพต่างมณฑลที่มีรายได้ต่ำ แต่ต้องมาทำงานในมณฑลชายฝั่งที่เคยเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ ดังนั้นในการแก้ปัญหาและเยียวยาแรงงานเหล่านี้ รัฐบาลจีนจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการ ‘รักษาเสถียรภาพ’ เพื่อไม่ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาความไม่สงบทางสังคม

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทรัมป์จะทุบจีนอย่างหนักเพียงใด เศรษฐกิจจีนก็จะไม่ล่มจม แม้ว่าจะต้องเหนื่อยหนักกว่าเดิม เนื่องจากจีนมีศักยภาพในการปรับตัว และมีนโยบายรัฐที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีความเป็นเอกภาพของระบบในการผลักดันมาตรการและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนไม่ได้นิ่งนอนใจ และเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้มานานหลายปี ตั้งแต่เริ่มเผชิญกับสงครามการค้ารอบแรกในปี 2018 จีนจึงเตรียมกระสุนไว้ในมือพร้อมตอบโต้กลับสหรัฐฯ จีนประกาศชัดเจนว่า ‘พร้อมสู้จนถึงที่สุด’ (fight to the end) 

 

ที่สำคัญจีนมีจุดแข็งจากตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถยืนบนขาตัวเอง แม้จะถูกตัดขาดจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ จีนมีกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อกว่า 400 ล้านคน (มากกว่าประชากร 340 ล้านคนของสหรัฐฯ ทั้งประเทศ) และจีนกำลังเร่งสร้างพลังผู้บริโภคระลอกใหม่ที่อาศัยอยู่ในชนบท ด้วยการใช้นโยบาย ‘ฟื้นฟูชนบท’ (Rural Revitalization) เพื่อกระจายความเจริญสู่ชนบท เร่งสร้างงาน/สร้างอาชีพให้ชาวจีนชนบท เพื่อจะได้มีรายได้มากขึ้น และขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ต่อไป ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนใช้ความพยายามอย่างหนักในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ สร้างความมั่นใจให้คนจีนกล้าใช้เงินให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ รัฐบาลจีนยังกระตุ้นภาคการบริโภคไม่ได้มากตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากคนจีนยังเน้นเก็บออม และใช้ชีวิตอย่างประหยัด (ยังไม่กล้าใช้เงินมากเหมือนช่วงก่อนโควิด) 

 

ในประเด็นการจ้างงานคนจีน ทางการจีนประกาศตั้งเป้าหมายสร้างงานใหม่ปีละ 12 ล้านตำแหน่ง และเร่งช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้อยู่รอดต่อไป ทั้งด้านการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และนโยบายการคลังที่เร่งอัดฉีดช่วยเหลือ เช่น การให้เงินอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และโครงการจ้างงานใหม่ๆ เพื่อดูดซับแรงงานที่ต้องว่างงาน รวมทั้งการส่งเสริมผู้ผลิตในการคิดค้นเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมเพื่อการส่งออก ควบคู่ไปกับการเร่งกระจายความเสี่ยง (diversify) แสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ กระจายตัวไปตามในภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

 

ประเด็นสุดท้าย โอกาสของจีน เพื่อวาดแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียขึ้นมาใหม่ หากพิจารณาจากมุมภูมิรัฐศาสตร์ ในยุคทรัมป์ป่วนโลก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบจีนเพียงประเทศเดียว เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศ ‘วันปลดปล่อยอเมริกา’ ด้วยการขึ้นภาษีกับ 180 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสูงลิ่วกับประเทศในอาเซียน จึงเปรียบเสมือนเป็น ‘วันผลักเพื่อนออกจากอเมริกา’ ให้ต้องมองหาที่พึ่งใหม่ เนื่องจากหลายประเทศที่เป็นพันธมิตร/เคยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ต้องถูกกระทบจากภาษีทรัมป์อย่างหนักหน่วง หลายฝ่ายมองว่า นี่คือการโดดเดี่ยวตัวเองของอเมริกา 

 

การเดินเกมพลาดของทรัมป์ที่หมกมุ่นกับการทำเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แบบไม่สนเพื่อน ไม่แคร์ใคร จึงอาจจะเป็น ‘โอกาสของจีน’ ในการใช้จังหวะเวลานี้ เพื่อแสดงบทบาทนำในการสร้างเครือข่าย/รวมพลังประเทศในอาเซียนและเอเชียที่ถูกกระทบจากภาษีทรัมป์หันมาค้าขายกันเองให้มากขึ้น ล่าสุดจีนผลักดันให้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ได้มีผลเจรจาคืบหน้าอีกครั้ง และคาดว่า จะมีการลงนาม FTA ระหว่างสามประเทศสำคัญในเอเชียนี้ได้สำเร็จภายในปีนี้ 

 

ขอปิดท้ายบทความนี้ ด้วยบทวิเคราะห์ของนิตยสาร The Economist ในประเด็น ‘อเมริกาจะทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง’ และขึ้นรูปหน้าปก (ฉบับวันที่ 5-11 เมษายน 2025) ด้วยภาพหมวกที่เขียนว่า MAKE CHINA GREAT AGAIN พร้อมวิเคราะห์ว่า “How America could end up making China great again : A big beautiful opportunity” เพื่ออธิบายว่า “ทรัมป์ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่และสวยงามให้กับจีนได้อย่างไร” The Economist วิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่า “ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากร และรัฐบาลของทรัมป์คุยโอ่ถึงความแข็งแกร่งของพันธมิตรทางทหารในเอเชีย แต่ในความเป็นจริง MAGA ของทรัมป์ที่พยายามกดดันผู้นำจีน กลับกลายเป็นการสร้างโอกาสให้จีนได้วาดแผนที่ภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียขึ้นมาใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์กับจีน” นั่นเอง 

 

 

ภาพ: rawf8 via ShutterStock, The Economist

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising