ประเด็น ‘บอลลูนสอดแนมจีน’ ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อต่างประเทศ นับตั้งแต่มีรายงานข่าว พบวัตถุปริศนาลอยอยู่บนน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทางการสหรัฐฯ จะเผยว่า วัตถุดังกล่าวคือบอลลูนสอดแนมของจีนที่เคลื่อนผ่านพื้นที่อ่อนไหวทางด้านการทหาร ซึ่งอาจกระทบความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยกองทัพสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องรอให้บอลลูนจีนเคลื่อนตัวออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเสียก่อน เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่บนภาคพื้นดิน ก่อนที่จะยิงทำลายและพยายามเก็บกู้เศษซากบอลลูนจีนมาตรวจสอบ
กรณีการตรวจพบบอลลูนจีนรุกล้ำน่านฟ้าและอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ นั้น ส่งผลให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาออกไปอย่างไม่มีกำหนด และอาจยิ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นบอลลูนสอดแนมจีนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนนัยของการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจในสงครามเย็นใหม่หรือไม่ อย่างไร และเราจะทำความเข้าใจหรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมไหนได้บ้าง
Q: กรณีบอลลูนสอดแนม สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นใหม่หรือไม่ อย่างไร หรือสะท้อนนัยอะไรจากประเด็นนี้
รศ.ดร.วาสนา อธิบายว่า ส่วนตัวเราไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นเลย ถ้าเราดูแนวโน้มของนโยบายจีนต่อชาติตะวันตก โดยเฉพาะต่อสหรัฐอเมริกา ตลอดปี 2022 ตั้งแต่ต้นปี 2022 หรือย้อนกลับไปปี 2021 เราจะเห็นแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่พอการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2022 เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเตรียมที่จะได้รับการสถาปนาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 แน่นอนแล้ว เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างประเทศจีนอย่างชัดเจน
โดยในเดือนพฤศจิกายน 2022 มีการประชุมใหญ่ G20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย และมีการประชุม APEC ที่ประเทศไทย เราก็จะเห็นว่าท่าทีของจีนนุ่มนวลขึ้นมาก และดูเป็นมิตรกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดในเดือนธันวาคม มีการประชุมแผนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่อาจบ่งบอกได้ถึงการกลับลำของสีจิ้นผิงในทางเศรษฐกิจว่า จีนต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวโน้มก็คือ หลังจากที่สีจิ้นผิงมีความมั่นคงในทางอำนาจแล้ว ก็ต้องการที่จะกระตุ้นการค้าการลงทุนกับชาติตะวันตก เพื่อนำมาช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน
นอกจากเรื่องของนโยบาย Zero-COVID ที่ถูกยกเลิกไปแล้วจนเกิดการระบาดระลอกใหญ่ เราต้องอย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นจีนมีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายอย่าง ตั้งแต่วิกฤต Bank Run คนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การล่มสลายของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง Evergrande รวมถึงมีปัญหากับดักหนี้ของโครงการเส้นทางสายไหมอย่าง BRI ท้ายที่สุดก็กลายเป็นภาระของรัฐบาลปักกิ่งเช่นเดียวกัน ยังมีปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นอีก กล่าวคือจีนอยู่ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก ตัวเลขการเติบโตต่ำกว่าเป้าอย่างมาก ล่าสุดเพิ่งจะมีประกาศออกมาช่วงหลังตรุษจีนว่า การเติบโตของประชากรจีนติดลบ นอกจากจีนจะเป็นสังคมที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างจริงจังแล้ว ยังจะไม่มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอีกด้วย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้สีจิ้นผิงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโลกตะวันตกดีขึ้น โดยมีการนัดแนะที่จะพบกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ การนัดเจอกันครั้งนี้ต้องบอกว่า Agenda ของสีจิ้นผิงเยอะกว่าของไบเดน กล่าวคือ การพบเจอกันครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อจีนหรือต่อสถานะของสีจิ้นผิงมากกว่า ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งใจให้กรณีบอลลูนนี้มาทำให้การพบเจอกับบลิงเคนจะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
Q: จีนและสหรัฐฯ มีปฏิกิริยาต่อกรณีบอลลูนสอดแนมนี้อย่างไร
รศ.ดร.วาสนา กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีเรื่องบอลลูนนี้แพร่ออกมาก็มีความน่าสนใจอย่างมาก ทันทีที่มีข่าวว่ามีบอลลูนลอยเข้ามาในอาณาเขตของสหรัฐฯ แล้วสหรัฐฯ ก็ระบุว่านี่คือบอลลูนของจีน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ตรวจพบบอลลูนนี้ตั้งแต่จังหวะที่บอลลูนรุกล้ำเข้ามาในเขตน่านฟ้าสหรัฐฯ แล้ว โดยทราบว่าบอลลูนลูกนี้เคลื่อนผ่านน่านฟ้าของแคนาดาเข้ามา รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เฝ้าจับตาและติดตามบอลลูนลูกนี้มาโดยตลอด พวกเขารู้อยู่แล้วแต่ไม่อยากทำให้เป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากบลิงเคนกำลังจะเดินทางไปเยือนจีน แต่ปัญหาคือบอลลูนดันลอยผ่านพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ รวมถึงพื้นที่ละเอียดอ่อน พอบอลลูนเคลื่อนต่ำลงมาแล้วผู้คนเห็น สื่อเอกชนเห็นก็ต่างพากันตีข่าวประเด็นนี้กันเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว
ส่วนในวันที่มีกระแสข่าวออกมา สื่อรัฐบาลจีนอย่าง China Global Television Network (CGTN) ก็มีบทความออกมาว่า ผู้เชี่ยวชาญของทางการจีนระบุว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ปฏิกิริยาแรกที่ออกมาจากฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของจีนปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ก่อนที่วันรุ่งขึ้นบทความดังกล่าวของ CGTN ถูกลบออกไป ทางด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกมามีท่าทีที่อ่อนลงอย่างชัดเจน และยอมรับว่าบอลลูนดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่บอลลูนทางการทหารหรือใช้ในการสงคราม แต่เป็นบอลลูนที่ใช้เก็บข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาที่เคลื่อนออกนอกเส้นทางเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ถูกกระแสลมพัดจึงเข้าไปยังเขตน่านฟ้าของสหรัฐฯ
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามคือ ถ้ากรณีบอลลูนเป็นสิ่งที่ทางการจีนตั้งใจทำให้เกิดขึ้น บทความ CGTN วันแรกจะไม่ออกมา หรือถ้าจะสับขาหลอกก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลบบทความนั้นของ CGTN ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นก็คือว่า บทความ CGTN ออกมา เพราะฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของจีนเองก็ไม่ทราบเรื่องนี้ พอวันรุ่งขึ้นเรื่องไปถึงผู้แทนระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศหรือสีจิ้นผิง พอมีการยืนยันว่าบอลลูนเป็นของจีนจริง ก็เลยมีข่าวของทางการจีนที่ดูนุ่มนวลขึ้น
แต่ปัญหาก็คือว่า สื่อและประชาชนในสหรัฐฯ ทราบเรื่องนี้เป็นวงกว้างแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะไม่ทำอะไรเลย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยอมจีนมากขนาดนั้น พอยิงบอลลูนจีนก็แสดงความไม่พอใจอีก ว่าทำไมต้องยิงอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของจีนดูแย่ลงไปอีก เพราะคุณไปละเมิดน่านฟ้า ไปละเมิดอธิปไตยของเขา เขาก็มีสิทธิที่จะยิงตั้งแต่แรกแล้ว แต่นี่เขาต้องรอให้บอลลูนเคลื่อนถึงมหาสมุทรแอตแลนติกก่อนเขาถึงค่อยยิง เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้คนบนภาคพื้นดิน แล้วถ้าจีนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ โดนลมพัด ทำไมไม่เข้าใจ ปรากฏว่าไม่กี่วันมานี้มีคนพบบอลลูนในลักษณะเดียวกันนี้อีก 2 ลูกในแถบลาตินอเมริกา แล้วทางการจีนก็ให้เหตุผลเดียวกันว่าเป็นเพราะสภาพอากาศ ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของจีนยิ่งดูไม่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก
Q: แล้วเราจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ รศ.ดร.วาสนา เคยพูดมาแล้วในช่วงหลังการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 หรือช่วงปลายปี 2022 โดยสิ่งที่สีจิ้นผิงทำในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 20 เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีผู้นำจีนคนไหนเคยทำมาก่อน ตั้งแต่ยุคเติ้งเสี่ยวผิง หรือตั้งแต่จีนเปิดประเทศมาหลังยุคเหมาเจ๋อตุง กล่าวคือสีจิ้นผิงเปลี่ยนตัวคนเยอะมากในโปลิตบูโร เอาคนของตัวเองเข้ามาเยอะมากเป็นประวัติการณ์ จนคนในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน ล้วนแล้วแต่เป็นคนของสีจิ้นผิงทั้งสิ้น
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนทีละหลายๆ คน ซึ่งคนอื่นเขาไม่ทำกันเพราะว่าการประชุมสมัชชาใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน จะเป็นการเปลี่ยนสมาชิกของโปลิตบูโรในพรรคคอมมิวนิสต์จีน แล้วก็จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีการเปลี่ยนตัวคนในรัฐบาลที่จะหมดวาระลง ประเด็นก็คือว่า พอคุณเปลี่ยนคนในโปลิตบูโรเยอะมากในเดือนตุลาคม ทำให้คนที่มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลจีนหลายคน อาทิ นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ไม่มีตำแหน่งอะไรภายในพรรคเลย เป็นเพียงสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เฉยๆ ไม่มีอำนาจภายในพรรค แล้วในขณะเดียวกันก็มีบุคคลที่มีตำแหน่งใหญ่มากในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (PSC) ที่ยืนรอแทนหลี่เค่อเฉียงอยู่ แต่ว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เขาก็ยังไม่ได้มีตำแหน่งในรัฐบาลจีน ดังนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ จะเกิด ‘ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับรัฐบาลจีน’ โดยจะเกิดอาการที่เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างๆ ‘ปล่อยเกียร์ว่าง’ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าขยันขันแข็งทำตามนโยบายของคนเก่า เดี๋ยวคนใหม่เข้ามาจะเดือดร้อน หรือทำตามแนวทางที่คิดว่าคนใหม่จะชอบ เดี๋ยวก็อาจจะมีปัญหาคนเก่าในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่าน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเกียร์ว่างของรัฐบาลจีน แต่ดันมาปล่อยเกียร์ว่างในช่วงที่วิกฤตที่สุด
รศ.ดร.วาสนา คาดการณ์ว่า กรณีบอลลูนน่าจะเป็นนโยบายที่มีมาตอนที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังคุกรุ่น น่าจะเป็นคำสั่งหรือโครงการที่มีมาก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 20 พอตัวเองเปลี่ยนคนออกในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ผ่านมานี้ คนที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีกับสีจิ้นผิงที่เพิ่งเปลี่ยนเข้ามาใหม่ ก็ยังไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรในรัฐบาลจีน เพราะพวกเขายังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนั้นนโยบายเดิม โครงการเดิมอะไรต่างๆ ที่สั่งไว้ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 20 ก็อาจจะรอดหูรอดตาไป เป็นคำสั่งที่มีมาตั้งแต่ตอนโน้นแล้ว ใครจะมาคิดว่าสีจิ้นผิงจะกลับลำ หันมาพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้ดีขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเป็นนโยบายที่กลับลำมาก เราคิดว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศษซากของนโยบายเดิมก่อนที่จะกลับลำ เป็นนโยบายเดิมที่ยังไม่ถูกปรับเปลี่ยน’ ก็เลยมีบอลลูนพวกนี้ลอยเข้าไปในเขตน่านฟ้าของประเทศอื่น เราคิดว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลไม่ฟังก์ชัน เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่กระทรวงปล่อยเกียร์ว่าง เราจึงเชื่อว่า ‘สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุแน่นอน’
แต่รัฐบาลจีนจะไม่ออกมายอมรับว่าเป็นอุบัติเหตุด้วยเหตุผลนี้ เพราะหากยอมรับก็อาจจะแสดงให้เห็นว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน หรือสีจิ้นผิงไม่สามารถจัดการหรือควบคุมทีมงานของตัวเองได้ ก็จะยิ่งดูไม่ดีมากยิ่งขึ้น
Q: ผลกระทบต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
รศ.ดร.วาสนา มองว่า บอลลูนนี้สหรัฐฯ ก็ไม่อยากได้ จีนเองก็ไม่อยากได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ผู้แทนระดับสูงของทั้งสองประเทศต่างอยากพบกัน ปัญหาก็คือว่าจริงๆ แล้วจีนได้ทำการสอดแนมโลกตะวันตกมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ก็ทำมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่พอมาคราวนี้ประจวบเหมาะกับที่สื่อเอกชนของสหรัฐฯ ตีข่าวนี้อย่างมาก เลยทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องทำอะไรบางอย่างกับบอลลูนดังกล่าว
อีกอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือว่า สีจิ้นผิง ณ ต้นปี 2023 อาจไม่ได้น่าเกรงขามเท่ากับสีจิ้นผิงในปี 2018 เพราะว่าโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ และสารพัดสิ่งที่เกิดขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่น้อยลงอย่างมาก ปัญหาประชากร รวมถึงอีกหลายประเด็นปัญหาที่ประเดประดังเข้ามา ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นานาชาติเกรงใจสีจิ้นผิงน้อยลง กล่าวคือเหตุการณ์บอลลูนในครั้งนี้ทำให้สีจิ้นผิงเสียหน้าอย่างมากภายในจีน ซึ่งก็น่าเป็นห่วงเพราะสีจิ้นผิงพูดมาตลอดว่า ภัยความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือคนภายในประเทศตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแรงต่อต้านจากคนภายในจีนที่ไม่พอใจเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึง Zero-COVID ต่างๆ ถ้าเกิดจะมีคนเอาชนะสีจิ้นผิงได้ นั่นไม่ใช่สหรัฐฯ หากแต่เป็นคนจีนด้วยกันเอง พอเป็นอย่างนี้ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสีจิ้นผิงก็จะต้องพยายามแสดงให้เห็นว่า นานาชาติยังคงเกรงใจตนเองอยู่ จุดนี้อาจนำไปสู่การทำอะไรที่ร้ายแรงกว่านี้ไหมอย่างการเสี่ยงบุกไต้หวัน หรือใช้แนวคิดชาตินิยมทำให้ตัวเองดูดีขึ้นมา ก็อาจจะยิ่งทำให้ไปกันใหญ่ได้
อีกส่วนหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ณ จุดนี้ อำนาจของสีจิ้นผิงและสถานะของสีจิ้นผิงเปราะบางมากที่สุด มากกว่าที่เราเคยเห็นมา ขนาดที่ว่าเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ขึ้นได้ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในการบริหารประเทศของสีจิ้นผิง
โดยในสหรัฐฯ จะมีสายเหยี่ยวที่ต้องการให้มีสงครามเย็นใหม่ หรือมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามอะไรทำนองนั้น แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่รู้สึกว่าสหรัฐฯ น่าจะสามารถคุยกับจีนและอยู่ร่วมกันได้ รศ.ดร.วาสนา คิดว่า ไบเดนเองเป็นแบบที่สองมากกว่า จริงๆ แล้วสำหรับสหรัฐฯ อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทะเลาะกับจีน เพราะแค่จีนทะเลาะกับตัวเองจีนก็จะแย่แล้ว เราคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สหรัฐฯ จะทำได้ในช่วงเวลานี้ก็คือ พยายามยั่วยุจีนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการเลื่อนการประชุมผู้แทนระดับสูงออกไปอย่างไม่มีกำหนด น่าจะเป็นวิธีการที่เบาที่สุดแล้วที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถทำได้ในสถานการณ์แบบนี้ อาจต้องรอให้เรื่องคลี่คลายก่อนแล้วเราค่อยไปเจอกันใหม่อีกที
Q: คิดเห็นอย่างไร หากประเด็นบอลลูนสอดแนมจีนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กดดันให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีน ก่อนที่จะลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ในปี 2024
รศ.ดร.วาสนา มองว่า การโจมตีเรื่องนี้สามารถอธิบายได้ไม่ยาก เพราะทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนรู้อยู่แล้ว ตั้งแต่บอลลูนเข้ามายังเขตน่านฟ้าของสหรัฐฯ แล้วทางการก็เฝ้าดูบอลลูนมาโดยตลอด แต่บอลลูนดันลอยอยู่เหนือพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ ถ้าเกิดยิงบอลลูนในช่วงเวลานั้นก็อาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน ต้องรอให้พ้นออกไปยังพื้นที่มหาสมุทรก่อนแล้วค่อยยิง ยิงแล้วก็มีการเก็บกู้ด้วย ดังนั้น พอเก็บกู้ได้ทางการสหรัฐฯ ก็จะมาถอดชิ้นส่วนดูว่า บอลลูนลูกนี้เป็นอะไร อย่างไร ค่อยว่ากันอีกที สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อธิบายได้ ท้ายที่สุดแล้วประชาชนสหรัฐฯ อาจต้องการการทูตแบบไบเดนมากกว่าการทูตแบบทรัมป์ เป็นการทูตที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล พูดคุยกันรู้เรื่องและสามารถคาดเดาได้ ท้ายที่สุดคนก็คงไม่อยากจะกลับไปสู่ยุคที่การทูตคาดเดาไม่ได้แบบนั้น เรารู้สึกว่าการที่ปิดท้ายด้วยการยิงบอลลูนนี้ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ไบเดนว่า ดูสิ ถึงแม้ว่ายิงแล้วรัฐบาลจีนจะโกรธ จะไม่พอใจ จะขู่หรือจะโวยวาย เราก็ยังตัดสินใจที่จะยิง เราไม่ได้กลัวจีน แล้วการที่จีนออกมาโวยวาย สิ่งนี้ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมสถานภาพของไบเดนเช่นเดียวกัน
รศ.ดร.วาสนา ยังระบุอีกว่า บอลลูนนี้ สำหรับไบเดนไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก เรากลับคิดว่าบอลลูนเป็นภัยต่อสีจิ้นผิงมากกว่าไบเดน ตอนนี้เรื่องเดียวที่พรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันมีความเห็นค่อนข้างตรงกันก็อาจเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับจีน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่น่าจะสะเทือนไบเดนมาก น่าจะสะเทือนสีจิ้นผิงมากกว่า
Q: ข่าวคราวที่ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เตรียมเดินทางเยือนไต้หวัน จะยิ่งสั่นคลอนความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในช่วงเวลานี้หรือไม่ อย่างไร
ในกรณีนี้ รศ.ดร.วาสนา อธิบายว่า แมคคาร์ธีส่งสัญญาณที่จะเดินทางเยือนไต้หวันมาสักระยะหนึ่งแล้ว และสีจิ้นผิงรวมถึงทางการจีนเองก็ออกแถลงการณ์ถึงกรณีนี้แล้ว ทางการจีนทราบถึงประเด็นข่าวคราวนี้ก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีบอลลูนอย่างชัดเจน นักวิชาการจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตว่า การที่สีจิ้นผิงประกาศท่าทีสนับสนุนรัสเซียมากยิ่งขึ้นในสงครามยูเครน ส่วนหนึ่งก็เป็นไปเพื่อตอบโต้ต่อกรณีที่แมคคาร์ธีจะเดินทางไปเยือนไต้หวัน แล้วก็มีแถลงการณ์ออกมา เผื่อให้เวลาที่บลิงเคนพบกับผู้แทนระดับสูงของจีนหรือสีจิ้นผิง จะได้นำเอาประเด็นนี้มาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ถ้าหากสหรัฐฯ ยังคงใกล้ชิดกับไต้หวันต่อไป เราอาจจะสนับสนุนรัสเซียมากยิ่งขึ้น โดยทั้งๆ ที่รู้ว่าแมคคาร์ธีจะไปเยือนไต้หวัน แต่สีจิ้นผิงก็ยังรอการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งของบลิงเคน
รศ.ดร.วาสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นบอลลูนสอดแนมเป็นผลเสียกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ โดยทั้งไทยและสื่อจำนวนมากต่างมีแนวโน้มที่จะมองจีนในมุมที่เป็นภัยมากกว่าที่จีนเป็นจริงๆ จีนไม่ได้เป็น เจมส์ บอนด์ ที่เก่งกาจสุดยอดขนาดนั้น จีนเองก็กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตแล้ว ดังนั้นเราระวังวิกฤตจีนที่จะล้นออกนอกประเทศดีกว่า
ภาพ: U.S. Fleet Forces / U.S. Navy photo / Handout via Reuters