ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเตรียดบนช่องแคบไต้หวันจากการซ้อมรบใหญ่ของจีนในพื้นที่ 6 แห่งรอบไต้หวัน ทำให้เกิดความกังวลว่าสงครามใหญ่อาจปะทุขึ้น แต่เวลานี้นักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายคนกลับมองว่า การซ้อมรบวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้ของจีน กำลังบอกใบ้เราถึงแผนยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมไต้หวัน มากกว่าการส่งกำลังทหารเข้ารุกรานไต้หวัน เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าสำหรับจีน
การซ้อมรบของจีนบอกอะไรเรา
- หนึ่งในมาตรการตอบโต้การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ คือการกำหนด ‘เขตอันตราย’ เหนือน่านฟ้าและน่านน้ำ 6 แห่งรอบเกาะไต้หวัน เพื่อการซ้อมรบใหญ่ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้ ซึ่งจีนประเดิมด้วยการส่งเครื่องบินรบอย่างน้อย 22 ลำ ล่วงล้ำเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน
- 6 พื้นที่ที่จีนกำหนดเป็นเขตอันตรายนั้น บางแห่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และบางแห่งทับซ้อนกับน่านน้ำอาณาเขตของไต้หวัน หรืออยู่ห่างจากชายฝั่งไต้หวันไม่ถึง 12 ไมล์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญการทหารบางคนมองว่าเป็นการปิดล้อมชั่วคราว
- การซ้อมรบในช่วงที่ผ่านมามีทั้งการยิงปืนใหญ่พิสัยไกล การส่งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด เฮลิคอปเตอร์ และเรือรบ เข้าร่วมปฏิบัติการจำนวนมาก
- แต่สิ่งที่ทั่วโลกจับตาคือ การยิงขีปนาวุธ ‘ตงเฟิง’ ไปตกน่านน้ำฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งถือเป็นการยิงขีปนาวุธข้ามเกาะไต้หวันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามกลางเมือง
- นอกจากนี้ขีปนาวุธบางลูกยังไปตกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประท้วงจีนผ่านช่องทางการทูต เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ขีปนาวุธของจีนไปตกในทะเล EEZ ของญี่ปุ่น
- ในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าจีนจะเคยซ้อมรบเป็นประจำรอบเกาะไต้หวัน แต่ก็ไม่เคยครอบคลุมพื้นที่ใหญ่เช่นนี้มาก่อน แม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันครั้งที่ 3 ระหว่างปี 1995-1996 ก็ตาม
- ในบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Wall Street Journal ชี้ว่า ถึงแม้จีนจะเคยขู่ใช้กำลังกับไต้หวันหากจำเป็น แต่นักวิเคราะห์ด้านการทหารหลายคนเชื่อว่า จีนยังขาดศักยภาพในการเปิดหน้าบุกไต้หวันเต็มรูปแบบ เพราะปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนและเพิ่มความเสี่ยง แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในวิกฤตเช่นนี้จีนจะพยายามบีบหรือกดดันไต้หวัน มากกว่าพยายามทำให้ไต้หวันยอมจำนน
- ไบรอัน คลาร์ก นักวิเคราะห์จากสถาบัน Hudson ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มองว่า จีนทำให้ดูเหมือนกำลังปิดล้อมไต้หวัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถทำได้ ซึ่งถือเป็นการซ้อมรบเพื่อส่งสัญญาณถึงไต้หวัน
- ส่วนในมุมมองของจีนนั้น พล.ต. เมิ่งเซี่ยงชิง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ให้ความเห็นกับสถานีโทรทัศน์ทางการจีนก่อนจีนเปิดฉากซ้อมรบเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมว่า การซ้อมรบครั้งนี้จะสร้างเงื่อนไขที่ดีต่อบริบททางยุทธศาสตร์ เพื่อกรุยทางสู่การรวมชาติในอนาคต
ผลกระทบต่อไต้หวันหากถูกปิดล้อม
- คาดการณ์กันว่า การซ้อมรบทางอากาศและทางทะเลของจีนจะเพิ่มดีกรีขึ้นหลังจากนี้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพว่าจีนสามารถควบคุมน่านน้ำรอบๆ ไต้หวันได้ ขณะที่การซ้อมรบในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการเดินเรือและการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีรายงานว่า เที่ยวบินและการขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากการปิดล้อมยังดำเนินต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อซัพพลายเชนและตลาดโลก โดยไต้หวันเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สำคัญต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัย
- ไต้หวันโจมตีแผนซ้อมรบของจีนโดยชี้ว่า ไม่เพียงละเมิดอธิปไตยไต้หวันและฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปิดล้อมไต้หวันทั้งทางทะเลและทางอากาศ เพราะเขตซ้อมรบที่จีนกำหนดขึ้นนั้นขยายไปถึงหรือมีระยะใกล้น่านน้ำอาณาเขตของไต้หวันมาก
- หวังกั๋วไช่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของไต้หวัน เผยว่า ในช่วงที่มีการซ้อมรบ เที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากไต้หวันจะเปลี่ยนเส้นทางการบิน โดยให้อ้อมผ่านญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์แทน ขณะที่เรือต่างๆ จะเปลี่ยนเส้นทางให้อ้อมรอบพื้นที่ที่มีการซ้อมรบ
- อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินที่จะประเมินผลกระทบทั้งหมดจากการไปเยือนไต้หวันของเพโลซีและการปิดล้อมของจีนครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ในขณะที่ความตึงเครียดและความเสี่ยงต่างๆ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จีนจะปิดล้อมนานแค่ไหน เรามีโอกาสเห็นสงครามรูปแบบใด
- นักวิเคราะห์การทหารและผู้เชี่ยวชาญจีนหลายคนกำลังจับตาดูว่า เมื่อการซ้อมรบสิ้นสุดลงแล้วจะมีทหารจีนหลงเหลืออยู่หรือไม่ หรือจีนจะจัดการซ้อมรบใกล้เกาะไต้หวันเป็นประจำ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การซ้อมรบอาจกลายเป็นเครื่องมือในการดิสรัปต์เศรษฐกิจไต้หวันเป็นระยะ
- ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ความพยายามปิดล้อมครั้งนี้เป็นการปิดล้อมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น จีนไม่น่าจะปิดล้อมไต้หวันเต็มรูปแบบในเวลานี้ เพราะไม่เพียงยกระดับความขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเองด้วย
- แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้และสร้างความวิตกกังวลอย่างมากคือ จีนอาจจัดการซ้อมรบในลักษณะที่เข้มข้นและในสเกลนี้ต่อไป จนกลายเป็นบรรทัดฐานหรือ ‘ความปกติใหม่’ โดย คริสเทน กันเนสส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจาก Rand ชี้ว่า มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการที่จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารในการลาดตระเวนบริเวณช่องแคบไต้หวันหรือรอบๆ น่านฟ้าและน่านน้ำของไต้หวัน ซึ่งอาจเกิดการกระทบกระทั่งหรือการเผชิญหน้ากันบ่อยขึ้น
- ขณะที่ แบรดลีย์ มาร์ติน อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เกษียณแล้ว และปัจจุบันเป็นนักวิจัยที่ Rand Corp. เชื่อว่า จีนไม่ต้องการทำสงครามเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่มีแนวโน้มจะแสดงอำนาจภายใต้ขอบเขตที่จะไม่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรง โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกว่า ‘การสงครามในพื้นที่พร่ามัว’ ซึ่งจีนมักใช้กับไต้หวันและหลายประเทศในภูมิภาคที่มีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน
- มาร์ตินมองการปิดล้อมทางทะเลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการห้ามเรือทุกลำสัญจรนั้นอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการก่อสงคราม ซึ่งจีนอาจเลือกปิดบางพื้นที่มากกว่า โดยอาจเลือกสกัดเรือบางลำ ขณะเดียวกันก็จะปล่อยให้เรือขนส่งสินค้าอาหารแล่นผ่านไปได้
- สำหรับการทำสงครามในโซนพร่ามัวหรือสีเทาตามทัศนะของผู้สันทัดกรณีนั้นอาจรวมไปถึงการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและสงครามไซเบอร์ โดยนอกจากการระงับนำเข้าสินค้าบางรายการจากไต้หวัน เพื่อตอบโต้การเยือนของเพโลซีตามที่เป็นข่าวไปแล้ว จีนยังมีสิ่งที่เรียกว่ากองเรือประมงจีน ซึ่งบางครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากยามฝั่งหรือกองทัพเรือจีนให้ยกโขยงไปท้าทายน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออ้างสิทธิการทำประมงในพื้นที่ที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อน
- ส่วนสงครามไซเบอร์นั้น เราได้เห็นไปแล้วกับข่าวที่เว็บไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงกลาโหมไต้หวันถูกโจมตีจนล่มในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไต้หวันระบุว่า เป็นฝีมือแฮกเกอร์ในต่างประเทศ โดยหลังจากนี้การโจมตีทางไซเบอร์อาจเกิดถี่ขึ้น ในช่วงที่สถานการณ์บนช่องแคบไต้หวันยังคุกรุ่น
จับตาบทบาทของสหรัฐฯ
- หนึ่งในการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของจีนคือ การทดสอบยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ โดยจีนอาจจำลองสถานการณ์ในกรณีถูกโจมตี ซึ่งมีเจตนาส่งสารเตือนกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยตรงด้วย
- ที่ผ่านมาจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการพัฒนากองทัพเรือให้ทันสมัย โดยปัจจุบันจีนมีจำนวนเรือรบแซงหน้าสหรัฐฯ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการทำสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ ซึ่งบทวิเคราะห์ของ Rand ชี้ว่า เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์อยู่ในวงล้อมของกองเรือจีน สหรัฐฯ อาจต้องตัดสินใจว่าจะยอมเสี่ยงแลกด้วยหรือไม่
- นักวิเคราะห์มองว่า การปิดล้อมไต้หวันเป็นความท้าทายระดับต่ำที่สหรัฐฯ อาจจัดการได้ยาก โดยสหรัฐฯ มีพันธกรณีตามกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งต้องรับประกันว่าไต้หวันจะสามารถป้องกันตนเองได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ยึดหลักนโยบายที่เรียกว่า ‘ความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Ambiguity) ซึ่งด้านหนึ่งก็ช่วยป้องปรามไม่ให้จีนบุกไต้หวัน เพราะจีนจะเกิดความหวาดระแวงว่าสหรัฐฯ อาจแทรกแซงด้วยกำลังทหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ช่วยป้องกันไม่ให้ไต้หวันตัดสินใจประกาศเอกราชทันที เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ให้หลักประกันว่าจะช่วยรบด้วยเสมอไป
- แม้สหรัฐฯ จะถูกวิจารณ์เกี่ยวกับจุดยืนที่ไม่ชัดเจนนี้ แต่ความกำกวมนี้ก็ช่วยรักษาสถานภาพความสัมพันธ์สามเส้า สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน (Status Quo) จนไม่เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เพโลซีไปเยือนไต้หวันครั้งนี้ ทำให้ทำเนียบขาวเกิดความอิหลักอิเหลื่อไม่น้อย เพราะจีนมองว่าสหรัฐฯ ละเมิดหลักการจีนเดียว (One China Policy) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน
- บทบาทของสหรัฐฯ หลังจากนี้จึงเป็นที่จับตาอย่างมาก ภายหลังเพโลซี ซึ่งเป็นผู้นำหมายเลข 3 ของสหรัฐฯ ให้คำมั่นกับประธานาธิบดี ไช่อิงเหวิน ว่า สหรัฐฯ จะยืนหยัดเคียงข้างและไม่ทอดทิ้งไต้หวันในยามที่ถูกจีนคุกคาม ซึ่งเป็นการประกาศแสดงจุดยืนเลือกข้างของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แม้จะไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายก็ตาม
- การซ้อมรบยังไม่จบ และสถานการณ์ในช่องแคบยังมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอีก เพโลซีเพิ่งประกาศชัดเจนว่า “เราจะไม่ยอมให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยว” ซึ่งก็ต้องติดตามต่อว่าสหรัฐฯ จะแก้เกมปิดล้อมไต้หวันของจีนครั้งนี้อย่างไร
ภาพ: Eastern Theatre Command / Handout via REUTERS
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/articles/chinas-drills-around-taiwan-give-hint-about-its-strategy-11659633265
- https://www.japantimes.co.jp/news/2022/08/04/asia-pacific/china-taiwan-drills-blockade/
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/taiwan-says-china-launched-dongfeng-ballistic-missiles-into-waters-2022-08-04/
- https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/todays-wars-are-fought-in-the-gray-zone-heres-everything-you-need-to-know-about-it/