×

บริษัททั่วโลกเร่งหาซัพพลายเออร์และฐานการผลิตใหม่ หลังจีนคุมเข้มส่งออกแร่หายาก ฟื้นไฟสงครามการค้า

06.07.2023
  • LOADING...
china

บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักลงความเห็นตรงกันว่า การตัดสินใจของรัฐบาลจีนเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ได้กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ หันมาคิดทบทวนนโยบายของตนเองในการพึ่งพาเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอีกครั้ง 

 

เนื่องจากภายใต้ห้วงเวลาที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าซัพพลายหรือแหล่งวัตถุดิบของตนเองจะขาดเสถียรภาพและอยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของบริษัท 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ที่ปรึกษาการค้าระดับสูงของจีนเตือนว่า สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) รัฐบาลจีนประกาศเตรียมจำกัดการส่งแร่หายากอย่างแกลเลียมและเจอร์เมเนียม เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนในการตอบโต้การตัดสินในของสหรัฐฯ ที่จะกำหนดข้อจำกัดการส่งออกเพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีน

 

ความเคลื่อนไหวของจีนได้จุดประกายเสียงเรียกร้องไปทั่วโลกให้ ‘ยกเลิกความเสี่ยง’ หรือค้นหาประเทศอื่นนอกเหนือจากจีนเพื่อดำเนินการและจัดหาส่วนประกอบหลักที่ใช้ในสินค้าหลากหลายประเภท เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยจีนมีแร่หายากประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณสำรองของโลก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันจีนก็มีความสามารถอย่างน้อย 85% ของโลกในการแปรรูปแร่หายากให้ผู้ผลิตวัสดุสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งเป็นความได้เปรียบที่ประเทศอื่นๆ ยากจะเทียบได้ 

 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การกระทำของจีนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกระจายห่วงโซ่อุปทาน พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ

 

ด้าน Stewart Randall นักสังเกตการณ์ผู้ติดตามภาคเซมิคอนดักเตอร์ของจีนจาก Intralink บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้ เตือนว่า นโยบายดังกล่าวของจีนก็หมายความว่าจีนจะสูญเสียรายได้ และบังคับให้ส่วนที่เหลือของโลกเร่งรีบค้นหาแหล่งซัพพลายอื่น ลดการพึ่งพาจีนมากขึ้น 

 

ที่ผ่านมาจีนเป็นเป้าหมายของบริษัทต่างๆ เนื่องจากสามารถส่งออกแร่แปรรูปด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากราคาสูงขึ้นตามข้อจำกัด บริษัทต่างๆ ก็มีเหตุผลอื่นที่จะเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน

 

Nyrstar ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยบริษัทการค้าและโลจิสติกส์ Trafigura กล่าวว่า กำลังพิจารณาโครงการแกลเลียมและเจอร์เมเนียมในออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนที่เกิดจากการควบคุมของจีน

 

ขณะที่ทาง Ericsson ของสวีเดนกล่าวว่า มีเป้าหมายที่จะกระจายฐานซัพพลายเออร์ให้มีความหลากหลายอยู่เสมอ และ “ในขั้นตอนต่อไปบริษัทจะวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการเหล่านี้ที่มีต่อ Ericsson”

 

ด้านญี่ปุ่นซึ่งเริ่มจำกัดการส่งออกเครื่องมือผลิตชิปไปยังจีนตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ระบุว่า ยังคงตรวจสอบผลกระทบของการควบคุมของปักกิ่ง ส่วนเกาหลีใต้กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการของจีนจะเป็นผลกระทบระยะสั้นและเป็นไปอย่างจำกัด โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลก 

 

ส่วน Navitas Semiconductor Corp ซึ่งผลิตชิปที่ใช้สารที่เรียกว่าแกลเลียมไนไตรด์ กล่าวเมื่อวันพุธว่า บริษัทคาดว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อธุรกิจจากการควบคุมการส่งออกของจีน เพราะแหล่งที่มาที่สำคัญของแกลเลียมมีอยู่ทั่วโลก เนื่องจากเป็นผลพลอยได้ตามธรรมชาติในการผลิตโลหะอื่นๆ เช่น อะลูมิเนียม” 

 

นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า การที่จีนตัดสินใจใช้มาตรการตอบโต้ในช่วงก่อนที่เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งไม่นาน มีแนวโน้มที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนตึงเครียดมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันกันเพื่อครอบงำในภาคส่วนสำคัญๆ ของเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising