สำนักงานศุลกากรจีนรายงานในวันนี้ (9 พฤษภาคม) ว่า ยอดส่งออกเดือนเมษายนของจีนขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 2.95 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของ Wind ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงินในจีนคาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 6.4%
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของยอดส่งออกเดือนเมษายนชะลอลงจากเดือนมีนาคมที่ขยายตัวแข็งแกร่งถึง 14.8%
ส่วนยอดนำเข้าเดือนเมษายนปรับตัวลง 7.9% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 2.0521 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ลดลง 1.4% ในเดือนมีนาคม และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจจะลดลงเพียง 0.1%
ในเดือนเมษายน จีนมียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 9.02 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าในเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ 8.819 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ยอดการนำเข้าของจีนหดตัวลงอย่างมากในเดือนเมษายน และยอดการส่งออกขยายตัวช้าลง ตอกย้ำสัญญาณของอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ แม้ว่าจะมีการเลิกควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด และแรงกดดันมหาศาลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกจะลดลงก็ตาม
ทั้งนี้ การนำเข้าที่ลดลงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงไม่สดใสและอาจไม่สามารถทดแทนกลไกการส่งออกที่ขาดกำลังได้
Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Jones Lang LaSalle กล่าวว่า อัตราการเติบโตของการนำเข้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งบ่งชี้ว่าการนำเข้าสินค้าของจีนยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศจะยังคงฟื้นตัวอย่างอ่อนแอต่อไป
การนำเข้าถ่านหินของจีนลดลงในเดือนเมษายนจากระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือนในเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลงเนื่องจากอุปสงค์ลดลงในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก การนำเข้าทองแดงและก๊าซธรรมชาติก็ลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังจีนซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้การนำเข้าของจีนก็ลดลง 26.5% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10
“การนำเข้าที่หดตัวอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบสำหรับสินค้าส่งออกของจีนอีกทอดหนึ่ง” Zhiwei Zhang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management กล่าว
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอย่างเป็นทางการล่าสุดในเดือนเมษายน แสดงให้เห็นคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่หดตัวลงอย่างมาก โดยเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจของจีนต้องเผชิญ โดยหวังว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งหลังโควิด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ประมาณ 5% สำหรับปี 2023 หลังจากที่พลาดเป้าหมายในปี 2022 ไปอย่างน่าเสียดาย
นักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุในรายงานว่า เศรษฐกิจจีนได้ผ่านช่วงของการเปิดประเทศมาอย่างรวดเร็ว และจากการประชุมกับลูกค้าในจีนแผ่นดินใหญ่ครั้งล่าสุดได้ค้นพบว่า การมองเศรษฐกิจจีนในแง่ร้ายค่อยๆ จางหายไป แต่ก็ยังมีความกังวลและแรงกดดันเกี่ยวกับเงินฝืดอยู่ แต่ก็ยังไม่ใช่ความเสี่ยงหลักในปี 2023-2024 แต่อย่างใด
ทั้งนี้ Goldman Sachs ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ไว้ที่ 6%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต่างชาติแห่ซื้อ ‘หุ้นบลูชิพจีน’ รับกระแสเปิดประเทศ เพียงสัปดาห์เดียวเงินไหลเข้าแล้วกว่า 5.6 หมื่นล้านหยวน
- ‘UN’ เผยประชากรโลกแตะ 8 พันล้านคนแล้ว ‘อินเดีย’ จ่อแซงจีนปีหน้า หลังอายุขัยเฉลี่ยมนุษย์สูงขึ้น
- ดับฝัน? ผลสำรวจพบนักท่องเที่ยวจีนเกือบครึ่ง ‘ไร้แผนเดินทางออกนอกประเทศ’ ในปีนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายระหว่างทริปก็น้อยลง
อ้างอิง: