‘เซมิคอนดักเตอร์’ หรือ ‘ชิป’ ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตั้งแต่ไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ ไปจนถึงจรวด ดาวเทียม และยานอวกาศ ล้วนอาศัยความสามารถอันน่าทึ่งของวงจรเล็กๆ นับล้านหรือพันล้านวงจรภายในชิป เพื่อเดินหน้าการทำงานของระบบ
ปริมาณชิปที่มนุษย์เราใช้งานในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการซื้อขายในอุตสาหกรรมการผลิตชิปเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 4.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 5.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตชิปทั่วโลกจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030
ชิปจึงกลายเป็นปัจจัยในการชิงความได้เปรียบของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดใน ‘สงครามเทคโนโลยี’ เพื่อควบคุมห่วงโซ่การผลิตชิปทั่วโลกให้ได้โดยเร็ว และก้าวขึ้นเป็น ‘มหาอำนาจโลกด้านเทคโนโลยี’ ซึ่งจะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางเทรนด์เทคโนโลยีโลกในอนาคต
‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ปริญญาตรีสาขาใหม่ในจีน
นับตั้งแต่ที่สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีนเปิดฉากขึ้นในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาอำนาจทั้งสองประเทศต่างขับเคี่ยวกันอย่างหนัก มีความพยายามตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน โดยสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมสัญชาติจีนอย่าง Huawei ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมสั่งห้ามไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ ทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทในลิสต์ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ
การตัดห่วงโซ่อุปทานและจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีจีน ทำให้จีนเสียผลประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่บริษัทในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลอยู่ก็ระงับการมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงยุติการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่จีน
จีนจึงพยายามปรับตัวและพัฒนาประเทศให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีใหม่ของโลก และหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญล่าสุดคือ การอนุมัติปริญญาตรีสาขาใหม่ในจีน โดยเฉพาะสาขา ‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ เพื่อสร้างบุคลากรที่จะมาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของจีนในสมรภูมิ ‘สงครามชิป’
ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ เชื่อว่า การอนุมัติปริญญาสาขาใหม่ที่มีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้นนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็น ‘นโยบายหลักของจีน’
ในที่ประชุมสองสภาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2024 จีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘การผลิตคุณภาพสูง’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยจีนพยายามทลายข้อจำกัดที่ชาติตะวันตกสร้างขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าลดการพึ่งพาและสร้างเทคโนโลยี ‘ของตัวเอง’ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยี 6G (ที่กำลังวิจัยอยู่ขณะนี้), แบตเตอรี่พลังงานสะอาด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
นอกจากวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ยังมีสาขาอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) และเทคโนโลยีวัสดุอัจฉริยะ โดยภากรเชื่อว่า ปริญญาตรีสาขาใหม่ทั้ง 24 สาขาในจีน สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาด้านการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรม’ ของจีนที่จะไม่ใช่แค่ทำได้แล้วทำใช้เอง แต่จะส่งออกตลาดโลกด้วย
ทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาสู่ความทันสมัยแบบจีน’ ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีสาขา ‘ความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของจีนนอกอาณาจักร’ เพิ่มขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งสาขาใหม่
แร่ ‘แรร์เอิร์ธ’ ไพ่ใบสำคัญของจีน
แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) หรือกลุ่มแร่หายากที่มีคุณสมบัติเหมือนโลหะ เป็นแร่สำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิป แผงวงจร แบตเตอรี่ รวมถึงเครื่องบินรบและอาวุธทางการทหาร
ที่มาของชื่อไม่ได้หายากเพราะมีอยู่น้อย แต่เป็นเพราะกระบวนการทำเหมืองและถลุงแร่ที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งบางประเทศที่พบแร่เยอะก็อาจพบในลักษณะที่กระจายตัว ไม่รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกประเทศที่พบแร่แล้วจะใช้ประโยชน์จากแร่เหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีการถลุงแร่ที่ทันสมัย ประกอบกับจีนมีแร่แรร์เอิร์ธสำรองกว่า 44 ล้านเมตริกตัน จึงทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในการผลิตแร่ดังกล่าว ซึ่งครองสัดส่วนตลาดแร่แรร์เอิร์ธโลกถึง 80%
ภากรกล่าวว่า แร่แรร์เอิร์ธมีความสำคัญอย่างมากในการผลิตชิป แบตเตอรี่ รวมถึงอาวุธทางการทหาร โดยจีนยังคงเป็นผู้นำในการผลิตแร่หายากเหล่านี้อยู่ แม้ในระยะหลังหลายประเทศจะเริ่มให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม ที่เริ่มผลิตแร่แรร์เอิร์ธได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งแร่จากจีนเพียงประเทศเดียว
แร่หายากเหล่านี้ถือเป็นไพ่ใบสำคัญของจีนในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับบรรดาชาติตะวันตก ขณะที่จีนถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี จีนก็ตอบโต้กลับด้วยการจำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธเหล่านี้ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศนำเข้าอันดับต้นๆ ของโลก และแร่แรร์เอิร์ธส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน
ภากรเชื่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังคงต้องพัฒนาอีก จีนจึงนำแร่หายากเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอด เปลี่ยนวิกฤตเป็นแรงผลักดัน ดังนั้นถ้าจีนสามารถสร้างองค์ความรู้และเพิ่มบุคลากรด้านนี้ จนสามารถผลิตได้ครบวงจรของห่วงโซ่อุปทาน จากแร่แรร์เอิร์ธที่เป็นไพ่สำคัญ อาจกลายเป็น ‘ไพ่ปิดเกม’ ก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนถึงแผนระยะยาวของจีน
แนวโน้มแยกห่วงโซ่เทคโนโลยีโลก
สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจ ทำให้โลกมีแนวโน้มที่จะเกิดการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ออกจากกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ทั้งยังเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างต้องเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการแยกห่วงโซ่กันอย่างชัดเจนในอนาคตและลดการพึ่งพาอีกฝ่ายมากจนเกินไป
ภากรชี้ว่า จีนพยายามบอกมาตลอดว่าไม่ต้องการให้แบ่งเป็นค่าย จีนมองว่าเราควรร่วมมือกัน รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย ตามแนวคิด ‘ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกกำลังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจริงๆ ห่วงโซ่ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากกัน โดยจีนพยายามสื่อสารว่า การพัฒนาของจีนจะสร้างผลบวกต่อโลก ดังนั้นประเทศต่างๆ สามารถมาร่วมมือกับจีนได้ ขณะที่สหรัฐฯ อาจมองว่า จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลและพยายามสร้างระบบของตนเอง
สำหรับประเทศไทยที่กำลังอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบของสองประเทศยักษ์ใหญ่ ภากรมองว่า เราควร ‘เลือกข้างไทย’ วางตัวแบบที่รักษาผลประโยชน์ของชาติมากที่สุด อาจไม่ใช่ว่าต้องเลือกข้างมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งไปเลย และที่สำคัญไทยควรเริ่มมองถึงการสร้างจุดแข็งและจุดยืนบนเวทีโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
แฟ้มภาพ: William Potter / Shutterstock
อ้างอิง:
- http://en.moe.gov.cn/news/press_releases/202403/t20240322_1121776.html
- https://www.euronews.com/next/2023/05/18/chip-war-what-are-semiconductors-and-why-are-they-at-the-heart-of-a-technology-cold-war
- https://www.semiconductors.org/ai-auto-industrial-markets-spurred-rebound-in-chip-demand-during-second-half-of-2023/
- https://edition.cnn.com/2023/07/04/tech/china-export-controls-semiconductor-war-explainer-intl-hnk/index.html