การควบคุมการส่งออกของจีนกำลังขัดขวางการขนส่งแร่ธาตุที่สำคัญสู่ทั่วโลก
มาตรการควบคุมการส่งออกโลหะ 3 ชนิดของจีน ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและการผลิตชิป ยังคงกดให้ปริมาณการส่งออกอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าราคาทั่วโลกจะสูงขึ้นก็ตาม เป็นการสะท้อนถึงอำนาจของจีนในการควบคุมห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุเหล่านี้
จีนเป็นผู้ผลิตหลักของแอนติโมนี (Antimony), เจอร์เมเนียม (Germanium) และแกลเลียม (Gallium) ซึ่งแม้จะเป็นแร่ธาตุเฉพาะทาง แต่มีบทบาทสำคัญในพลังงานสะอาด การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีทางทหาร นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา จีนได้ทยอยเพิ่มโลหะเหล่านี้เข้าไปในรายการควบคุมการส่งออก และในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จีนได้สั่งแบนส่งออกแร่เหล่านี้ไปยังสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง
สำหรับแร่ทุกชนิดที่อยู่ในรายการควบคุมของจีน ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอใบอนุญาตก่อน ซึ่งกระบวนการอนุมัตินี้ค่อนข้างคลุมเครือ ทำให้จีนสามารถใช้อำนาจเหนือที่ตนสร้างขึ้นมาในด้านการทำเหมืองและการแปรรูปแร่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลศุลกากรล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีมาตรการควบคุม ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ซื้อบางกลุ่ม โดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังถูกตัดออกจากห่วงโซ่อุปทาน
ในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์แอนติโมนีลดลง 57% ขณะที่ผลิตภัณฑ์เจอร์เมเนียมลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
การส่งออกแกลเลียมในเดือนมีนาคมแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 แม้ว่ายอดส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้จะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่แนวโน้มปัจจุบันยังต่ำกว่าปี 2022 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จีนจะเริ่มออกมาตรการควบคุมการส่งออก
สำหรับแร่บางชนิด เช่น แอนติโมนี การส่งออกที่ยังมีอยู่ก็กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่แคบลง หลังจากหยุดส่งออกไปนานถึง 5 เดือน จีนกลับมาส่งแอนติโมนีในปริมาณเล็กน้อยไปยังเบลเยียมและเยอรมนีในเดือนมีนาคม แต่ยอดส่งออกก็ยังคงต่ำกว่าระดับในอดีต และประเทศที่เคยเป็นลูกค้ารายใหญ่ เช่น เนเธอร์แลนด์ ก็ไม่ได้รับการจัดส่งมาตั้งแต่เดือนกันยายน
แนวโน้มที่เกิดขึ้นกับทั้ง 3 โลหะทำให้เกิดคำถามว่า จีนจะอนุมัติใบอนุญาตส่งออกแร่หายากทั้ง 7 ชนิดที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปในรายการควบคุมเมื่อต้นเดือนนี้มากน้อยเพียงใด และจะดำเนินการได้รวดเร็วแค่ไหน โดยผู้ส่งออกระบุว่า พวกเขาคาดว่าจะต้องรอใบอนุญาตนานหลายเดือน และยิ่งนานขึ้นหากปลายทางคือสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว จีนยังไม่ได้ส่งออกแอนติโมนีไปยังสหรัฐฯ เลย ส่วนเจอร์เมเนียมและแกลเลียมก็ไม่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2023 แล้วเช่นกัน การส่งออกจากจีนที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคต่างชาติพยายามหาวัสดุทางเลือก ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนราคาภายในประเทศจีนเอง
ตัวอย่างเช่น ราคาจุดของแอนติโมนีในจีนพุ่งขึ้นเกือบ 2 ใน 3 ในปีนี้ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 230,000 หยวน (31,509 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตันในวันที่ 18 เมษายน ตามข้อมูลจาก LSEG
อ้างอิง: