เว็บไซต์ข่าว The Financial Times รายงานความคืบหน้าล่าสุดของการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนประจำปีครั้งใหญ่ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี Xi Jinping ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 3 ได้ประกาศเดินหน้าปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งรวมถึงการยกเครื่องการกำกับดูแลระบบการเงิน และส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนดังกล่าวของจีนมีความก้าวหน้าและเทียมกับบรรดาชาติตะวันตก
ทั้งนี้ รายงานระบุว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดการปฏิรูปรัฐมนตรีในสภาแห่งรัฐของจีน คณะรัฐมนตรีของจีน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงินชุดใหม่ จัดระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ และสร้างหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลข้อมูลจำนวนมหาศาลของจีนโดยเฉพาะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เงินเฟ้อ-ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ’ ปมชี้ชะตาตลาดหุ้นโลก
- อ่านแผนปรับทิศทางจีนปี 2023 มีจุดเน้นใหม่อะไรบ้าง
- สีจิ้นผิง ขึ้นเวที G20 เรียกร้องประชาคมโลกจับมือฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
หลายฝ่ายมองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเป็นอีกหนึ่งความพยายามของประธานาธิบดี Xi Jinping ในการกุมอำนาจการบริหารจัดการของตนเองให้แน่นแฟ้นเบ็ดเสร็จมากยิ่งขึ้น
ด้านสื่อท้องถิ่นของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะพยายามรวมการศึกษาและการวิจัยเข้ากับการใช้งานจริง เช่นเดียวกับการจัดตั้งระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของจีนไล่ตามทันชาติตะวันตก
Xi Jinping ยังตอกย้ำให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ หลังเผชิญกับมาตรการกีดกันของสหรัฐอเมริกา โดยXi Jinping ได้กล่าวไว้ว่า ท่ามกลางวิกฤตในเวลานี้ จีนจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองและเทคโนโลยีชั้นหนึ่งที่แข็งแกร่งและจีนสามารถควบคุมได้เอง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพระดับสูงของจีน
ด้าน Rory Green นักเศรษฐศาสตร์ของ TS Lombard กล่าวว่า การยกเครื่องครั้งนี้ดูจะเป็นความพยายามในการปรับโครงสร้างพรรคและโครงสร้างรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของนโยบายระยะยาวในการพัฒนาประเทศของ Xi Jinping เพื่อสร้างรูปแบบเศรษฐกิจการเมืองที่ ‘เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปฏิรูปเทคโนโลยีแล้ว จีนยังแสดงท่าทีชัดเจนในการปฏิรูประบบการเงินของประเทศ หนึ่งในนั้นรวมถึงการที่จีนจะจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลทางการเงินของรัฐจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารและประกันภัยในปัจจุบัน เพื่อดูแลกิจกรรมทั้งหมดในภาคส่วนเหล่านั้นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมหลักทรัพย์
Xiao Jie เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวในด้านการเงิน และนำกิจกรรมทางการเงินทุกประเภทมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ โดยความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดใหม่จะรวมถึงการกำกับดูแลกลุ่มบริษัททางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เคยดำเนินการบางส่วนโดยธนาคารกลางจีน และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดอย่างคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ของจีน (China Securities Regulatory Commission: CSRC)
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน CSRC จะได้รับการยกระดับให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดทางหน่วยงานต้องรายงานโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรี และเข้าตรวจสอบการออกพันธบัตร รวมถึงตราสารหนี้หลายพันล้านดอลลาร์ที่ออกโดยหน่วยงานจัดหาเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่น (LGFVs) ที่ขณะนี้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
รายงานระบุอีกว่า ทางการจีนจะจัดตั้งสำนักงานข้อมูลแห่งชาติ (National Data Bureau) เพื่อดูแลและปกป้องข้อมูลจำนวนมหาศาลของประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องระบบบริหารจัดการประเทศ
นอกจากนี้ ทางการจีนยังประกาศเตรียมลดจำนวนพนักงานในสถาบันของรัฐลง 5% เดินหน้าปรับปรุงสำนักงานท้องถิ่นของธนาคารกลางจีน และปรับค่าตอบแทนของพนักงานในระบบกำกับดูแลทางการเงินให้ได้รับค่าจ้างแบบเดียวกับข้าราชการ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดค่าจ้างได้
หลายฝ่ายมองว่าการประกาศยกเครื่องดังกล่าวของจีนแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการที่จะยืนหยัดพึ่งพาตนเอง และให้สามารถแข่งขันกับชาติตะวันตกได้อย่างทัดเทียม อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และภาคเอกชนต่างต้องการรายละเอียดที่ชัดเจนมากกว่านี้
วันเดียวกันสำนักข่าว CNBC รายงานว่า Qin Gang รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีน และอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวนอกรอบการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ครั้งที่ 14 กับสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม เกี่ยวกับจุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ว่า จีนจะยึดมั่นในการดำเนินความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมั่นคงกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีนยอมรับว่าแนวทางดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจีนจะต้องนิ่งเงียบ ในขณะที่มองดูสหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันที่สร้างความขัดแย้งมากขึ้น
Qin Gang ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกัน รวมทั้งการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะถูกกำหนดด้วยมิตรภาพระหว่างพลเมืองของทั้งสองประเทศ ไม่ใช่ถูกกำหนดด้วยการเมืองในสหรัฐฯ
พร้อมกันนี้ Qin Gang ยังเตือนว่า ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะบานปลายจนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานและผลลัพธ์ที่เลวร้าย และมองว่าข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ บอกว่าต้องการจะแข่งขันกับจีนโดยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เป็นเพียงข้ออ้างของสหรัฐฯ ที่ต้องการควบคุมและกดดันจีนในทุกด้าน จนทำให้ในที่สุดบีบให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลายเป็นเกมที่ต้องมีเพียงผู้แพ้และผู้ชนะเท่านั้น
นอกจากนี้รัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังเตือนให้สหรัฐฯ รู้ขอบเขตของตนเอง และควรจะยุติการกระทำที่พยายามยั่วยุกดดันจีน ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ความสัมพันธ์อันดีต้องหยุดชะงัก กลายเป็นความขัดแย้งและเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างแน่นอน
Qin Gang ยังใช้โอกาสนี้เตือนสหรัฐฯ ไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกรณีของไต้หวัน โดยย้ำว่าไต้หวันถือเป็นกิจการภายในของจีน และประเด็นไต้หวันถือเป็นเส้นแดงเส้นแรก (First Red Line) ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ ไม่ควรล่วงล้ำ
อ้างอิง: