อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมาเป็นในรูปแบบที่เรียกว่า Frenemy คือเป็นทั้งเพื่อน (Friend) และอาจเป็นทั้งอริ (Enemy) ในเวลาเดียวกัน หรือถึงแม้อาจจะอยากเลิกคบก็เลิกคบไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างก็ยังต้องการกันและกันอยู่
ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะตกต่ำลงในระยะหลังๆ ของทั้งสองประเทศ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการกล่าวหาและโจมตีกันในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางด้านการทหารที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงมุมมองและการรับรู้ถึงการเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอีกฝ่ายก็มีแนวโน้มที่เด่นชัดขึ้น เช่น ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดย Lowy Institute ที่สอบถามความเห็นของพลเมืองออสเตรเลียว่า ‘มีความเป็นไปได้ หรือไม่น่าเป็นไปได้ ที่จีนจะกลายเป็นภัยคุกคามทางทหารต่อออสเตรเลียในอีก 20 ปีข้างหน้า’ ซึ่งราว 75% ตอบว่า มีความเป็นไปได้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จีน-สหรัฐฯ ตกลงที่จะเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ นับตั้งแต่สมัยโอบามา
- หวังอี้หารือไบเดน ย้ำจุดมุ่งหมายสื่อสาร-พัฒนาสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ
ความเคลื่อนไหวสำคัญล่าสุดคือ แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนปัจจุบัน เดินทางเยือนจีนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ถือเป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกในรอบ 7 ปีที่เดินทางเยือนประเทศจีน โดยเขายังได้พบกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรี อีกด้วย
ออสเตรเลีย (ยัง) ต้องการจีน
การตัดสินใจเยือนจีนของผู้นำออสเตรเลียในช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงตกต่ำครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้วว่า ออสเตรเลียยังต้องการจีน ถึงแม้ว่าออสเตรเลียจะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของจีนอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบถึงต้นตอของการแพร่ระบาดโควิดในจีน ขณะเดียวกันออสเตรเลียก็มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้รัฐบาลจีนไม่สบายใจทั้งสิ้น
แต่ด้วยผลประโยชน์ทางด้านการค้าและการลงทุนก็เลยทำให้ออสเตรเลียผละมือออกจากจีนไม่ได้ แม้จะมีมุมมองด้านความมั่นคงที่แตกต่างกันก็ตาม โดยความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีนยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2020 ที่สินค้าส่งออกเกือบครึ่งหนึ่งของออสเตรเลียส่งไปขายที่จีน ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยในปี 2021 ปริมาณการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีนมีมูลค่าสูงถึงราว 2.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตถึง 35.1% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าสินค้าออสเตรเลียของจีนที่มีมูลค่า 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 40.6% เมื่อเทียบกับปี 2020
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจีนมักใช้แนวทางการกำหนดภาษีและเพิ่มข้อจำกัดให้กับสินค้าบางชนิดของออสเตรเลีย เพื่อเป็นการส่งสัญญาณถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น การเดินทางเยือนจีนของอัลบาเนซีในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน และเรียกร้องให้จีนผ่อนปรนข้อจำกัดทางการด้านค้าระหว่างกัน
ความเคลื่อนไหวนี้ยังตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการเดินทางเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ในปี 1973 ของ กอฟ วิตลัม นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกที่เดินทางเยือนจีน หลังจากออสเตรเลียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์
จีนก็ต้องการออสเตรเลีย (ด้วย)
จีนมองออสเตรเลียในฐานะพันธมิตรทางด้านการค้าที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยจีนพึ่งพาสินค้าและวัตถุดิบจากออสเตรเลียอย่างมากเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนเอง โดยเฉพาะแร่เหล็กและก๊าซธรรมชาติ
รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักว่า มาตรการและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของจีนอาจมีส่วนผลักให้ออสเตรเลียเข้าใกล้กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น เราจึงเห็นความพยายามของรัฐบาลจีนในการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกันให้เป็นปกติ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และใช้เป็นช่องทางในการโน้มน้าวออสเตรเลียให้ขยับออกจากมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จีนเองก็ยังต้องการแรงสนับสนุนจากออสเตรเลียในการผลักดันเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีหลายประเทศรวมถึงออสเตรเลียเอง ที่ยังคงแสดงท่าทีขัดขวางการเข้าร่วมกลุ่มของจีน
THE STANDARD ถามความเห็น ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงความสัมพันธ์แบบ ‘Frenemy’ ของจีนและออสเตรเลียว่าสะท้อนนัยอะไร และความสัมพันธ์นี้เกี่ยวพันกับการเมืองและเศรษฐกิจโลกมากน้อยแค่ไหน
ภากรกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน เท่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็มากกว่า 250 ปี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า โดยตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของออสเตรเลีย ในช่วงปี 2020 มากกว่า 40% ของมูลค่าส่งออกของออสเตรเลียเกิดขึ้นที่จีน
“ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่เริ่มส่อเค้าถึงปัญหา นับตั้งแต่ปี 2018 ที่จีนมีประเด็นพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และกระทบไปยังพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลียด้วย โดยเฉพาะประเด็นสินค้าทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโทรคมนาคม ผ่านการกีดกัน Huawei บริษัทเรือธงด้านเทคโนโลยีของจีน ที่สหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรอย่างออสเตรเลีย มีความกังวลด้านความปลอดภัยและความเสี่ยงเรื่องของข้อมูลที่อาจถูกส่งไปยังรัฐบาลจีนผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารดังกล่าว ทำให้เริ่มมีการตั้งข้อจำกัดทางการค้าขึ้น และยิ่งปะทุหนักขึ้นไปอีกเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งออสเตรเลียเองก็ร่วมวงกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอีกบางประเทศในการตั้งข้อสงสัยจีนเกี่ยวกับต้นตอของการแพร่ระบาด รวมไปถึงกรณีที่นักข่าวของจีนถูกหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียบุกค้น ก็ทำให้ความขัดแย้งยิ่งมากขึ้น จีนจึงเริ่มโต้ตอบด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งทางการค้าและการเมือง
“นอกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐฯ แล้ว อิทธิพลทางการเมืองของจีนที่เริ่มแผ่ขยายไปมาก โดยเฉพาะในเอเชีย รวมถึงภูมิภาคอาเซียนที่ออสเตรเลียเองก็มีอิทธิพลอยู่แต่เดิม ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนตึงเครียดและเย็นชาขึ้นในระยะหลัง
“แต่ล่าสุดในปีนี้ การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียสะท้อนจุดยืนว่า ออสเตรเลียพร้อมที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีน และลดอุปสรรคทางการค้ากับจีน โดยเราคงได้เห็นการหยุดใช้มาตรการภาษีกับสินค้าสำคัญหลายชนิดจากออสเตรเลีย อาทิ ไวน์ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะมีการส่งสัญญาณบ่งชี้มาแล้วตั้งแต่ที่ผู้นำออสเตรเลียยืนยันว่าจะเดินทางเยือนจีน
“แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนและออสเตรเลียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในด้านการค้า เพราะจีนเองก็ต้องการที่จะขยายตลาดออกไปให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าเรือธงตามนโยบายที่จีนดำเนินอยู่อย่างสินค้าเทคโนโลยี และจีนเองก็จำเป็นต้องใช้สินค้าบางชนิดที่นำเข้าจากออสเตรเลีย ขณะเดียวกันออสเตรเลียเองก็ต้องการส่งออกไปจีน เพราะจีนมีตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง
“สำหรับเศรษฐกิจโลก ด้วยความที่เศรษฐกิจจีนเองก็เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และออสเตรเลียก็ถือเป็นประเทศสำคัญของโลกเช่นกัน ถ้าหากทั้งสองประเทศยังคงปล่อยให้ความขัดแย้งขยายตัวต่อไปก็จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกไม่น้อย”
ภากรยังอธิบายอีกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับออสเตรเลียในขณะนี้ก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในสหภาพยุโรปขณะนี้ ที่เราได้เห็นว่าจีนและสหภาพยุโรปมีการหารือและเดินทางเยือนกันและกันมากขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพากัน เรื่องทั้งการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ เราได้เห็นท่าทีของจีนที่ยืนยันว่าจะใช้การเจรจาอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหา หากทางสหภาพยุโรปมีการตั้งกำแพงกีดกันการค้า สินค้าจำพวกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน ซึ่งบ่งบอกได้ว่าจีนต้องการที่จะใช้วิธีที่อ่อนขึ้น ไม่แข็งกร้าวเหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้เศรษฐกิจจีนเองก็มีการชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและภายนอกอยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของออสเตรเลียเช่นเดียวกัน
“อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ผ่านมาระหว่างจีนกับออสเตรเลียก็ส่งผลเชิงบวกมายังประเทศในแถบอาเซียน แอฟริกา และอื่นๆ ในแถบเส้นทาง BRI มากขึ้น เพราะจีนต้องการหาตลาดและคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะในอาเซียน เราจึงเห็นว่าจีนมุ่งเป้ามาที่ภูมิภาคเหล่านี้ทั้งการค้า การลงทุน ความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เปลี่ยนทิศมาจากออสเตรเลีย ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนนักเรียนจีนที่ไปเรียนในออสเตรเลียเริ่มลดลง แต่มาในแถบอาเซียน เช่น สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยมากยิ่งขึ้น”
ภาพ: James Brickwood / Sydney Morning Herald via Getty Images
อ้างอิง:
- www.abc.net.au/news/2023-11-05/albanese-china-visit-shanghai-xi-jinping-diplomacy-trade/103065894
- www.bbc.com/news/business-67305453
- www.nytimes.com/2023/11/03/world/australia/china-xi-albanese-relations.html
- www.china-briefing.com/news/record-high-australian-exports-to-china-ignite-optimism-for-bilateral-trade