เว็บไซต์ข่าว Global Times ของทางการจีน รายงานสรุปการประชุมคณะทำงานว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ หรือ Central Economic Work Conference เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติเน้นนโยบายเศรษฐกิจที่สร้างเสถียรภาพเป็นหลัก
รายงานระบุว่า การประชุมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางโดยรวมของการเติบโตเศรษฐกิจของจีนในปีหน้า ซึ่งคำว่า ‘เสถียรภาพ’ นี้หมายความว่า มาตรการเชิงนโยบายทั้งหลายจะมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศ (ดีมานด์), สนับสนุนภาคเอกชน และรักษาระดับการเติบโตในปี 2020
หานเหวินซิ่ว รองผู้อำนวยการ ซึ่งรับหน้าที่ดูแลงานประจำสำนักงานคณะกรรมการการเงินและเศรษฐกิจของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวว่า งานเศรษฐกิจปีหน้าควรให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพควบคู่ไปกับการแสวงหาการเติบโต ดังนั้นทุกฝ่ายควรคิดและนำเสนอนโยบายที่สามารถช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังการออกมาตรการที่จะมีผลทำให้เศรษฐกิจหดตัวหรือชะลอตัว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเตือนให้เฝ้าจับตาภาวะเงินเฟ้อและปัญหาติดขัดด้านซัพพลายเชน เพราะอาจมีผลฉุดความต้องการบริโภคภายในประเทศจนส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนโดยรวมได้
ทั้งนี้ การประชุม Central Economic Work Conference เป็นการประชุมสำคัญที่สรุปลำดับความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสูงสุดของประเทศในปี 2022
ในส่วนของสถานการณ์วิกฤตหนี้อสังหาริมทรัพย์ของจีนจากกรณี China Evergrande ทาง ไต้เซียงหลง อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมาแสดงความเห็นยืนยันหนักแน่นว่า โครงสร้างของจีนไม่มีจุดอ่อนที่จะก่อให้เกิดวิกฤตแบบเดียวกับวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี 2007 แน่นอน เนื่องจากความต้องการบ้านทั้งในเขตเมืองและชนบทยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความพยายามของภาครัฐในการออกมาตรการกำกับเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์
ความเห็นของอดีตผู้ว่าการ PBOC ครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างที่เจ้าตัวเข้าร่วมการประชุมด้านการเงินที่ทางสื่อการเงินอย่าง iFeng news จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประเด็นพูดคุยหลักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเงินยุคใหม่ของจีนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ไต้ มองว่า การตัดสินใจลดสัดส่วนทุนสำรองอัตราเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของ PBOC หลังการประชุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เพื่อเสริมสภาพคล่อง จะมีส่วนช่วยควบคุมและลดความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้ภาคอสังหาฯ เคลื่อนไหวในทิศทางบวกมากขึ้น
ในส่วนของแนวโน้มการพัฒนาด้านการเงินของจีนในอนาคต ไต้กล่าวว่า ค่าเงินหยวน จะเข้ามามีบทบาทในฐานะสกุลเงินที่ได้รับการยอมรับบทเวทีโลกมากขึ้น ในการใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศ พร้อมคาดการณ์ว่าอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐจะลดลงโดยมีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯเองที่เร่งพิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ ซึ่งจีนเชื่อว่า ตลาดการเงินโลกจำเป็นต้องเพิ่มสกุลเงินให้มีความหลากหลาย และสกุลเงินหยวนของจีนก็มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะไปถึงจุดนั้น
อ้างอิง: