คนไทยแห่ลงทะเบียน ‘ชิมช้อปใช้’ สิทธิ์เต็มล้าน 2 วันต่อเนื่อง คลังย้ำไม่เพิ่มสิทธิ์
เมื่อรัฐบาลออกมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยตั้งวงเงินสนับสนุนราว 19,000 ล้านบาท แก่คนไทย 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. ให้เงินคนละ 1,000 บาทผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง คิดเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท และ 2. วงเงินที่เหลือใช้เป็นสิทธิ์รับเงินคืน 15% จากภาครัฐไม่เกินคนละ 4,500 บาท เมื่อเติมเงินและใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง
ทั้งนี้คนไทยสนใจลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก เพราะตั้งแต่เปิดลงทะเบียนวันที่ 23 กันยายน ถึงวันนี้ที่รัฐเปิดให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านสิทธิ์ก็ลงทะเบียนเต็มแล้วทั้ง 2 วัน วันนี้ (24 กันยายน) สิทธิ์เต็มตั้งแต่ 8 โมงเช้า
อย่างไรก็ตามมีข่าวจากกระทรวงการคลังว่า แม้มาตรการนี้จะได้รับการตอบรับดีจากประชาชน แต่จะไม่ขยายสิทธิ์เพิ่มเติมจะคงที่ไว้ที่ 10 ล้านคนเท่านั้น
ทำไมคนไทยอาจเบิกวงเงินรัฐไม่ถึง 19,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้?
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytics กล่าวว่า มาตรการชิมช้อปใช้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คาดว่าส่วนที่ให้เงิน 1,000 บาทต่อคน คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาทรัฐจะเบิกจ่ายได้ทั้งหมด แต่ส่วนที่ 2 ที่รัฐจะให้เงินคืน 15% คนไทยต้องใช้จ่ายเงินถึงคนละ 30,000 บาท รัฐบาลจึงจะเบิกจ่ายงบส่วนที่เหลือได้ทั้งหมด
“สถิติที่ผ่านมาคนไทยใช้เงินเที่ยวในไทยทั้งค่ากิน ค่าโรงแรมเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคน แต่ในโครงการชิมช้อปใช้ 1,000 บาทแรกคนน่าจะใช้กันหมด แต่ส่วนที่ 2 คนที่ลงทะเบียนต้องใช้จ่าย 30,000 บาทต่อคน รัฐถึงจะเบิกจ่ายเงินคืนให้ที่ 4,500 บาท ดังนั้นถือเป็นเรื่องยากที่ทุกคนที่รับสิทธิ์แล้วจะใช้เงินเที่ยวในไทยถึง 30,000 บาท และส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่รัฐจะเบิกจ่ายวงเงินทั้งหมด 19,000 ล้านบาทน้อยลง”
ทั้งนี้ TMB Analytics คาดว่ารัฐบาลจะเบิกจ่ายงบจากมาตรการชิมช้อปใช้ได้ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท ข้อดีคือเม็ดเงินนี้จะเข้าสู่ผู้ประกอบการภาคบริการ ท่องเที่ยวทั้งรายใหญ่และรายเล็ก จากที่ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลง
นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี TMB Analytics
มาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ ช่วยเศรษฐกิจไทยได้แค่ไหน?
เมื่อรัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เงินก้อนนั้นจะเข้าไปหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้หลายรอบ เช่น รัฐให้เงินคนไทยใช้จ่ายซื้อของ เงินเข้าสู่ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการนำไปจ่ายให้พนักงาน จ่ายซัพพลายเออร์ ฯลฯ ดังนั้นมาตรการชิมช้อปใช้มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ แต่มากแค่ไหน
เรื่องนี้ นริศกล่าวว่า ผลของมาตรการชิมช้อปใช้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของประชาชน ในกรณีแรกหากรัฐเบิกจ่ายได้ 19,000 ล้านบาทจะมีเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งคนที่ลงทะเบียนโครงการทั้ง 10 ล้านคนใช้จ่ายคนละ 30,000 บาทตามวงเงินที่รัฐกำหนด
ส่วนกรณีที่ 2 หากรัฐบาลเบิกจ่ายในมาตรการชิมช้อปใช้ไม่ถึง 19,000 ล้านบาท จะมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจราว 60,000 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการชิมช้อปใช้ของรัฐบาลจะมีส่วนช่วยการท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้นบ้าง จากการคาดการณ์ปี 2562 คาดว่า รายได้ของไทยที่เกิดจากนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยซึ่งอยู่ราว 2.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยปีนี้มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่า 40 ล้านคนย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยชัดเจนกว่า
“แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยอาจจะลดลงเพราะเงินบาทที่แข็งค่า แต่ไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นฮับ (Hub) ที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทางเข้ามาเพื่อเชื่อมต่อไปประเทศอื่นๆ รอบไทย” นริศกล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์