ในระหว่างที่เรา ‘ตั้งการ์ด’ สู้กับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการล้างมือ แม้โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านละอองสารคัดหลั่งเหมือนกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน แต่ทว่าโรคที่ติดต่อผ่านช่องทางอื่น เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลาย กลับตรงกันข้าม คือมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมก็เพิ่งเดินทางไปสอบสวนโรคชิคุนกุนยาที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ที่นั่นมีผู้ป่วยรวมมากกว่า 500 รายแล้ว ถ้าอย่างนั้นโรคนี้คืออะไร และน่ากลัวแค่ไหน บทความนี้มีคำตอบ
โรคชิคุนกุนยาคือโรคอะไร
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อน ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการตรงกับชื่อโรคในภาษาไทยว่า ‘ไข้ปวดข้อยุงลาย’ คือมีอาการไข้ + อาการปวดหลายข้อ มักปวดเหมือนกันทั้งข้างซ้ายและขวา เช่น ปวดข้อนิ้วเท้าและข้อเท้าสองข้างจนเดินลงน้ำหนักไม่ได้ ต่อมาอาจมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ทำให้หลายคนคิดว่าออกหัด
ถ้าเปรียบเทียบกับ ‘ไข้เลือดออก’ ที่เราคุ้นเคยกัน จะมีความคล้ายกัน 3 อย่าง ได้แก่
- อาการไข้สูง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะเหมือนกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถแยกสองโรคนี้ได้ จนกว่าจะเลยวันที่ 3 ของไข้เป็นต้นไป ซึ่งหากเจาะเลือด ระดับเกล็ดเลือดมักจะไม่ต่ำ ในขณะที่ไข้เลือดออกจะมีเกล็ดเลือดต่ำ (เป็นสาเหตุของเลือดออกได้)
- ไม่มียารักษาเฉพาะ ทั้งชิคุนกุนยาและไข้เลือดออกไม่มียารักษาเฉพาะ ดังนั้นแพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ยาพาราเซตามอลลดไข้ ยาทาลดอาการคัน แต่ไม่ควรซื้อยาแก้ปวด แก้ยอก หรือยาแก้อักเสบรับประทานเอง เพราะสองโรคนี้มีอาการคล้ายกัน หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดออกมากขึ้น
รวมถึงยาฉีดที่คลินิกด้วย หลายคนมีความคิดว่าถ้าป่วยแล้วจะต้องฉีดยาถึงจะหาย จึงไปคลินิกเพื่อขอให้ฉีดยาให้ แต่สองโรคนี้การฉีดยาไม่ได้ช่วยให้หายป่วยเร็วขึ้น (เพราะไม่มียารักษาเฉพาะ) ส่วนยาฉีดแก้ปวด เมื่อหมดฤทธิ์ยาก็จะกลับมาปวดอีก จนกว่าอาการของโรคจะหายไปเองตามธรรมชาติ ยิ่งถ้าเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
- ติดต่อผ่านยุงลาย ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งออกหากินเวลากลางวัน โดยเมื่อยุงลายกัดคนที่กำลังป่วยอยู่ เชื้อจะเพิ่มจำนวนในยุงก่อนประมาณ 7 วัน ถึงจะแพร่เชื้อให้กับอีกคนที่โดนกัดต่อมาได้ จากนั้นอีก 3-7 วัน คนนั้นก็จะเริ่มมีอาการไข้ + ปวดข้อ = แหล่งโรคชิคุนกุนยาคนต่อไป ถ้ามียุงลายมากัดช่วงที่มีอาการ
ดังนั้นการป้องกันโรคจะต้องป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัด เช่น ทายากันยุง ส่วนการควบคุมโรคก็ต้องจัดการ ‘แม่ยุง’ ที่มีเชื้ออยู่ในตัวด้วยการฉีดสเปรย์กำจัดยุงในบ้าน พ่นหมอกควัน หรือ ULV ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ป่วย (เท่ากับระยะบินของยุงลายบ้าน) และถ้ามีสวนหรือป่า ต้องพ่นเข้าไปให้ลึกที่สุด เพราะยุงลายสวนบินได้ไกลกว่า
และจัดการ ‘ลูกน้ำ’ ตามภาชนะที่มีน้ำขังด้วยการคว่ำภาชนะ เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ (เพราะเมื่อยุงลายวางไข่ จะใช้เวลา 3-7 วันกลายเป็นลูกน้ำ) หรือใส่ทรายทีมีฟอส (ทรายอะเบท) ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในชุมชน เพราะยุงสามารถบินข้ามรั้วบ้านหรือข้ามจังหวัดได้ และคนป่วยก็เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกเช่นกัน
สถานการณ์โรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย
การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย 3 รอบล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2538 ตามมาด้วยปี 2551 และรอบนี้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปี 2561 จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ชิคุนกุนยาจะระบาดทุก 10 ปี แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยการระบาด 2 รอบหลังเริ่มต้นจากช่วงปลายปี และมีจุดเริ่มต้นจากจังหวัดทางภาคใต้ขึ้นมาจนกระจายทั่วประเทศ
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเกือบ 6 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 สิงหาคม 2563) โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จังหวัดที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี อุทัยธานี และลำพูน เท่ากับว่ามีพื้นที่ยังระบาดอยู่เกือบทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ที่ระบาดหนักไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
ในฤดูฝนมีฝนตกต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะที่วางอยู่นอกตัวบ้านที่ไม่มีฝาปิด เช่น โอ่ง เศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวด กระป๋อง ยางรถยนต์ รวมถึงรอยแตกของเปลือกไม้และกาบใบพืชที่มีน้ำขังในสวน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งชอบน้ำนิ่ง น้ำใส ไม่เน่าเสีย เป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดทั้งชิคุนกุนยาและไข้เลือดออกในช่วงนี้
การเฝ้าระวังโรคนอกโรงพยาบาล
เมื่อเรารู้แล้วว่าโรคนี้เป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร และจะป้องกันโรคได้อย่างไร คงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงยังไม่สามารถควบคุมโรคได้?
คำตอบหนึ่งคือความร่วมมือของทุกคนในชุมชนยังไม่เต็มที่ โดยจะต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ภายในบ้านตั้งแต่ก่อนฤดูฝน และเมื่อเกิดการระบาดแล้วก็จะต้องทำเป็นประจำทุกสัปดาห์
อีกคำตอบหนึ่งที่ผมได้จากการสอบสวนโรคคือ ผู้ป่วยอยู่นอก ‘ระบบเฝ้าระวังโรค’ เนื่องจากอาการของโรคไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงซื้อยารับประทานเองจากร้านขายยา หรือไปรักษาที่คลินิก ทำให้ไม่มีการรายงานผู้ป่วยเข้าสู่ระบบที่จะนำไปสู่การสอบสวนควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่ ซึ่งปกติจะเป็นระบบที่ตั้งรับในโรงพยาบาลของรัฐเป็นหลัก และทำให้จำนวนผู้ป่วยบนแผนที่ข้างต้นต่ำกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงด้วย
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ‘กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว’ (กว่าเจ้าหน้าที่จะรู้ว่ามีผู้ป่วยในพื้นที่ ก็ระบาดไปทั้งหมู่บ้านแล้ว) ผู้ที่มีอาการไข้ปวดข้อ หรือไปคลินิกแล้วแพทย์แจ้งว่าเป็นโรคชิคุนกุนยา ควรกลับมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (สถานีอนามัย) ใกล้บ้าน หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ข้างบ้าน
ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขในอำเภอหรือจังหวัด ควรตั้งระบบเฝ้าระวังโรคที่ร้านขายยาและคลินิก โดยขอความร่วมมือให้เจ้าของรายงานผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเข้าระบบทุกวัน เพื่อจะได้ควบคุมโรคได้ทันเวลา ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมให้ทุกสถานพยาบาลรายงานโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายได้สะดวกมากขึ้น
โรคชิคุนกุนยาหรือไข้ปวดข้อยุงลายต่างจากไข้เลือดออกตรงที่ป่วยแล้วไม่รุนแรงถึง ‘ชีวิต’ ทำให้การป้องกันและควบคุมโรคถูกละเลยจากทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่โรคนี้ป่วยแล้วอาจรุนแรงถึง ‘รายได้’ เพราะอาการปวดข้อมัก ‘ปวดมากจนต้องคลานเข้าห้องน้ำ’ ผู้ป่วยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันทำให้ต้องขาดงานหลายวัน
อีกทั้งอาการปวดข้ออาจเป็นอยู่นานหลายเดือนถึงแม้จะหายจากไข้แล้วก็ตาม ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ป่วยท่านหนึ่งระหว่างการลงพื้นที่ว่าเขาเปลี่ยนคลินิก เสียค่ายาฉีดหลายเข็มแล้วก็ยังไม่หายปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก ทั้งที่เป็นมาเกินหนึ่งเดือนแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องช่วยกัน ‘ให้มันจบที่ปีนี้’ อย่าให้มีชิคุนกุนยาระบาดต่ออีกเลย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า